หลายคนคงจำหนังเรื่องหนึ่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนที่สร้างจากนิทาน (หรือนิยาย)ของอังกฤษ ที่พระเอกเป็นโจรที่ปล้นคนรวยช่วยคนจน อย่างโรบินฮู้ดได้ ในหนังเรื่องนี่สร้างให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโรบินฮู้ดมิได้ปรารถนาจะเป็นโจร ตัวโรบิ้นฮู้ดเองก็ไม่ได้เป็นโจรโดยกำเนิด และก็ไม่ได้มีสันดานโจรแทรกซึมอยู่ในสายเลือด แต่ที่มาเป็นโจรเพราะถูกอำนาจรัฐรังแก บังคับ ข่มเหงอย่างไม่มีทางสู้ ดังนั้นเมื่อเป็นคนดีในสังคมก็ไม่ได้ ก็ไม่เป็นโจรซะให้รู้แล้วรู้รอดไป
หากใช้แนวความคิดที่ว่าเมื่อรัฐไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ตนเองได้แล้ว คนๆนั้นจะปฏิบัติตัวอย่างไร จะให้ทนทนไปจากการกระทำของอำนาจรัฐ โดยคิดซะว่าเป็นกรรมเก่าที่เคยทำมาในชาติที่แล้ว หรือว่าช่างมันถือว่าอโหสิ แล้วก็แล้วกันไปหรือ แน่นอนครับบางคนทำได้ แต่บางคนทำไม่ได้ ไอ้คนที่ทำไม่ได้ หากไม่ได้ตัดสินใจเป็นอาชญากรอาชีพ ก็คงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐที่กระทำต่อตนเอง หากโรบินฮู้ดเกิดช้ากว่านี้ซัก 200-300 ปี คงไม่เลือกที่จะไปเป็นโจรอยู่ในป่าเชอร์วู๊ดเป็นแน่ เพราะมีทฤษฎีใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน”
ความจริงแล้วผมออกจะงงงงอยู่กับคำว่า “อารยะขัดขืน” อยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะโดยถ้อยคำดูสวยหรู แต่ไม่สื่อให้เห็นถึงความนัยของมัน ซ้ำร้ายจะถูกมองอย่างมีอคติว่า การขัดขืนอย่างมีอารยะหมายถึง การขัดขืนที่ฝรั่งผู้ดีตีนแดงเค้าใช้กัน แล้วไอ้คนอย่างผมที่ยังไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไหร่ว่าตัวเองมีอารยะกะเค้าหรือเปล่าจะขัดขืนอย่างนั้นบ้างได้ไหม
แต่หากเรียกชื่อเดิมของมันก่อนที่จะถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “ดื้อแพ่ง” หลายคนคงถึงบางอ้อได้ในทันที ดื้นแพ่งเป็นคำจากไหนผมไม่รู้ แต่ผมเดาว่าคงแปลมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “civil (แพ่ง) disobedience (ดื้อ)” รู้แต่ว่าเป็นคำที่ได้ยินตั้งแต่เด็กๆ เป็นคำที่บรรดา ครูบาอาจารย์ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองใช้ตำหนิติเตียนลูกศิษย์ลูกหา หรือลูกตัวเองในกรณีที่ เด็กๆไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ท่านเหล่านั้นให้ไว้ ซึ่งผมขอใช้คำว่า “ดื้อแพ่ง” ในบล็อกตอนนี้นะครับเพราะไม่ค่อยชินกะไอ้การขัดขืนอย่างมีอารยะ
ตามตำราฝรั่งเค้าบอกว่า ดื้อแพ่ง คือการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างสันติวิธี เป็นการกระทำในเชิงศีลธรรม เป็นการประท้วงหรือคัดค้านคำสั่ง กฎหมายของผู้ปกครองที่อยุติธรรม หรือเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง
การดื้อแพ่งจึงเป็นการที่การ “จงใจ” กระทำที่ผิดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน แต่จงใจเพื่อประท้วงการกระทำของอำนาจรัฐ หรือประท้วงกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม โดยอ้างอำนาจ หรือมโนธรรมที่อยู่เหนือกว่ากฎหมายมาเป็นข้อโต้แย้ง หากอธิบายตามหลักนิติปรัญชา สำนักกฎหมายธรรมชาติ ก็จะได้ว่ากฎหมายย่อมมีลำดับศักดิ์ต่างกัน กฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่าย่อมไม่อาจขัดแย้งกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า กฎหมายบ้านเมืองแม้ได้ออกมาโดยอาศัยอำนาจของผู้ปกครองสูงสุด ก็ไม่อาจขัดกับกฎธรรมชาติที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุดได้
แนวความคิดเรื่องดื้อแพ่งนี้ ออกจะขัดกับมโนสำนึกที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนทั่วไปที่ว่าบุคคลมีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย ดูเผินๆอาจเหมือนกับอาชญากร หรือพวกโจรผู้ร้ายที่กระทำผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ผู้ดื้อแพ่งหาได้คิดเช่นเดียวกับโจรไม่ ผู้ดื้อแพ่งยังคงเคารพกระบวนการยุติธรรมทางศาล การจงใจทำผิดกฎหมายมิได้เกิดขึ้นเพื่อเจตนาทำให้เสื่อมเสียหายแก่สิทธิของผู้บริสุทธิ์ หากแต่ต้องการนำประเด็นความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐขึ้นมาให้สาธารณะขบคิดถึงผลเสียหายที่มากกว่าการเสียหายแบบธรรมดา ดังนั้นผู้ดื้อแพ่งทุกคนจะรอคอยการพิจารณาของศาลอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อที่จะได้นำเสนอประเด็นอธิบายให้สาธารณะเข้าใจ หากมีคำตัดสินอย่างไรก็ต้องยอมรับโทษตามการกระทำความผิดของตน
การดื้อแพ่งนั้นมีส่วนที่ใกล้เคียงกับการก่อการร้ายตรงที่ปฏิเสธอำนาจรัฐที่ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรม หากแต่การดื้อแพ่งนั้นเลือกใช้สันติวิธี แทนการวางระเบิด หรือลอบยิงประชานผู้บริสุทธิ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการดื้อแพ่งมักจะทำร้ายเพียงแค่สิทธิของตัวเองเท่านั้น หรืออย่างมากแค่จัดการชุมนุมรบกวนสิทธิในการสัญจรไปมาของบุคคลอื่น
บล็อกตอนนี้มิได้เกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าการกระทำของอาจารย์จุฬาฯที่ฉีกบัตรเลือกตั้งนั้นถูกหรือผิด เพียงแต่อยากเห็นกระบวนการของการใช้สิทธิในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่พบเห็นในระบบกฎหมายประเทศไทย หากศาลตัดสินว่าการฉีกบัตรเลือกตั้งดัวกล่าวเป็นความผิด ก็คงต้องยอมรับ แต่ผมอยากเห็นกระบวนการใช้สิทธิทางศาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการดื้อแพ่ง อันเป็นสิทธิอย่างนึงในระบบประชาธิปไตยทางตรง อย่างน้อยที่สุดผมอยากเห็นคำพิพากษาที่พิจารณาในส่วนของการใช้สิทธิ เช่น สิทธิที่เป็นฐานของการกระทำดื้อแพ่งมีหรือไม่ตามระบบกฎหมายไทย วิธีการใช้สิทธิที่ถูกต้องที่ศาลยอมรับได้ หรือขอบเขตของการใช้สิทธิ เป็นต้น
การชุมนุมของบรรดาพันธมิตรได้เปิดมิติใหม่ทางการเมืองอันเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งผมเห็นว่าหากจะเรียกร้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนั้น นอกจากการติดอาวุธทางปัญญาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการติดอาวุธทางกฎหมายกรับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
เจ๋งว่ะโต
ตอนแรกพี่กะจะทิ้งคอมเมนต์ไว้ในบล็อกของโต แต่เขียนไปเขียนมายาวมาก
เลยเอาไปเพิ่มเติมเล็กน้อยแล้วไปไว้ในบล็อกพี่เอง ยังไปแลกเปลี่ยนกันได้นะ
ดีใจครับที่ได้อ่านผลงานของคุณอีก
ได้เปิดหู เปิดตา เปิดหยักครับ
สำหรับผม ในกรณีนี้คิดว่า ค่อนข้างเข้าใจเจตนารมย์ของอาจารย์ท่านนั้นนะ แต่คงไม่ใช่ไปในทางที่เห็นด้วยกับการกระทำของแกทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการกระทำอันกล้าหาญ ที่จะยอมเอาตัวเองเข้าไปในกระบวนการศาล
แล้วเขียนมาบ่อยๆนะครับ
ดีใจครับที่ได้อ่านผลงานของคุณอีก
ได้เปิดหู เปิดตา เปิดหยักครับ
สำหรับผม ในกรณีนี้คิดว่า ค่อนข้างเข้าใจเจตนารมย์ของอาจารย์ท่านนั้นนะ แต่คงไม่ใช่ไปในทางที่เห็นด้วยกับการกระทำของแกทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการกระทำอันกล้าหาญ ที่จะยอมเอาตัวเองเข้าไปในกระบวนการศาล
แล้วเขียนมาบ่อยๆนะครับ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล ครับ
รายละเอียดที่พี่tanuszบอก
ในนิติศาสตร์นอกคอกใช่มั้ยครับ
ในเรื่องทั้งหลายทั้งปวง ผมได้กลิ่นความคิดของ สำนักกม.ธรรมชาติ (ซึ่งไม่ใช่"สำนัก"กม.ธรรมชาติ)
ซึ่งผมยังเห็นด้วยกว่าคำที่ว่า กม.คือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์
มันก็จะอุบาทว์เหมือนกม.ที่ผมเห็นอยู่
Post a Comment