Thursday, December 08, 2005

Song For You(My Computer).

I wanna give you my heart. Give you my soul.
I wanna lay in your arms. Never let go
Don't wanna live my Life without you.
But I know when you're gone.
Like a fire needs a spark.
Like a fool in the dark.
Hey! I'll cry for you.
Europe:I'll Cry For You

Tuesday, November 22, 2005

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเทคนิคทางกฎหมายที่สำหรับผมแล้ว ถือเป็นเรื่องยากเลยทีเดียวที่จะอธิบายให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาจะเข้าใจถึงสภาพที่แท้จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากผมเอาเทคนิคทางกฎหมายมาว่ากันล้วนๆ ก็จะขัดกับวัตถุประสงค์ของบล็อกของผมที่ต้องการแบ่งปันความรู้ ความคิดเห็นให้กับบุคคลต่างสาขาวิชา ต่างความคิดเห็น ได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อกันได้อย่างอิสระ แต่เหตุด้วยความอ่อนด้อยทางปัญญาของผม ผมได้เรียบเรียงเรื่องราวทางกฎหมายในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้อ่านง่ายที่สุด จึงทำให้อาจเสียความสมบูรณ์บางประการไป ดังนั้นจึงต้องรบกวนทุกคนที่เข้ามาอ่านช่วยกรุณาคอมเม้นท์ ข้อผิดพลาด หรือข้อคิดเห็นที่ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับผม เพื่อผมจะได้ปรับปรุงแก้ไขและก่อเกิดประโยชน์ทางปัญญามากที่สุด ขอบคุณครับ

-1-
ความทั่วไป

รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือนิติบุคคลมหาชนกลุ่มนึง และนิติบุคคลเอกชนกลุ่มนึง
กลุ่มที่เป็นนิติบุคคลมหาชนจะเป็นพวกที่จัดตั้งโดยกฎหมายเช่น พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน หรือพระราชกฤษฎีกาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น กลุ่มนี้โดยหลักแล้วจะมีอำนาจรัฐและสิทธิพิเศษจากรัฐต่างๆอยู่ในมือไม่มากก็น้อย เช่นอำนาจในการปักเสาไฟฟ้าในที่ดินเอกชน อำนาจพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชน อำนาจในการตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตมาระเกะระกะสายไฟฟ้า หรือสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของราชพัสดุ

ส่วนกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลเอกชน พวกนี้จะจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป มีทุนจดทะเบียน มีหุ้น มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.การบินไทย พวกนี้โดยหลักแล้วจะไม่มีอำนาจมหาชนในกับบังคับเอากับเอกชนทั่วไปเหมือนกลุ่มแรก และการดำเนินงาน จะเป็นเหมือนบริษัทเอกชน
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจความหมายที่ใช้กันปัจจุบันคือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถืออยู่ให้แก่เอกชนจนรัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (ดังนั้นการขายหุ้นในรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจึงยังไม่ใช่การแปรรูปตามนัยทางกฎหมาย) แต่เพื่อความสะดวก ผมขอเรียกกระบวนการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่า “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ”

ปัญหาประการแรกสุดคือรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกไม่มีทุนจดทะเบียน ไม่มีหุ้น ดังนั้นในการขายจึงไม่สามารถขายได้ทันทีเหมือนรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการนำเอารัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมาเข้ากระบวนการแปลงสภาพให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเสียก่อนจึงจะสามารถขายหุ้นให้เอกชนได้
แต่ไปๆมาๆ กลับมีการใช้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจไปแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งกระบวนการ จึงทำผลเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้


-2-
มูลเหตุของการแปรรูป

ตามกฎธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป ต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีผลตามมา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เช่นกัน เหตุของการแปรรูปผมสรุปออกมาได้ดังนี้

ประการแรก ความล้มเหลวในการดำเนินงานภายในของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดกับ กฎ ระเบียบทางราชการ ทั้งๆที่ความจริงแล้วองค์การของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎ ระเบียบอันหยุมหยิมของราชการ เพื่อให้มีความคล่องตัวเหมือนการดำเนินงานของเอกชน แต่เอาเข้าจริงๆกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐต่างกัน มากกว่า 2 แห่งขึ้นไป ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีกฎ ระเบียบเป็นของตนเอง เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ ฯลฯ จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องเปิดดูระเบียบก่อนถึงจะทำได้

ประการที่สอง ความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างธนาคารออมสิน เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มแรก จัดตั้งโดย พรบ.ธนาคารออมสิน อยากจะทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ทำไม่ได้ เนื่องจาก พรบ.ออมสินไม่ได้ให้มีอำนาจทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ถ้าจะทำต้องไปแก้กฎหมาย โดยทำเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ต้องผ่านสภาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าจะได้ฤกษ์ แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง จะทำธุรกิจประกันชีวิต ทำได้เลยครับ ไม่ต้องแก้กฎหมายด้วย อย่างมากก็แก้หนังสือรับรองบริษัท โดยไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่เกิน 2 เดือนก็เสร็จ ดังที่เห็นธนาคารกรุงไทยจับมือกับกลุ่มบริษัทแอ็กซ่าจากฝรั่งเศส ทำธุรกิจประกันในนาม “กรุงไทยแอ็กซ่า”

ประการที่สาม การขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปอุ้มรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ปีๆนึงเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปค้ำประกันให้ ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีเงินจ่ายรัฐก็ต้องจ่ายแทน

ประการที่สี่ กระแสทุนนิยมเสรีที่ประเทศไทยไม่อาจต้านทานไว้ได้ ยังไงๆซักวันนึงก็ต้องเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจ และหากให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันนี้ ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติแล้วไซร้ คงไม่ต้องบอกว่านะครับว่าผลจะเป็นอย่างไร

ประการที่ห้า หลักการเสรีนิยมบอกว่า การแข่งขันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากแปรรูปออกไปเพื่อให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ จะทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเกิดการตื่นตัว ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตน ผลที่ตามมาคือประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นมูลเหตุหลักในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยังไม่รวมมูลเหตุรอง เช่นข้อผูกพันที่ไทยเราทำไว้กับองค์การโลกบาล เช่น IMF หรือแปรรูปเพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนทำอย่างอื่น หรือเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้น
ดังนั้นถ้าจะเหมารวมว่าการแปรรูปคือความชั่วร้าย คือการขายชาติไปซะทั้งหมดมันคงไม่ใช่ ที่มันจะชั่วร้าย ที่มันจะขายชาติอยู่ที่กระบวนการแปรรูปไม่ใช่แนวคิดการแปรรูป

-3-
กระบวนการแปรรูปที่ควรจะเป็น

ขั้นตอนแรกสุด การเลือกทางเดินของรัฐวิสาหกิจว่าเลือกว่ากิจการใดที่รัฐควรจะทำต่อไป ถ้าจะทำต่อจะทำในรูปแบบใด จะเป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกหรือกลุ่มที่สอง กิจการใดรัฐควรจะขายทิ้งไปเลย ไม่ควรอุ้มอีกต่อไปแล้ว
เช่น กิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา รัฐควรดำเนินการต่อไป แต่หากให้เป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกอาจมีปัญหาด้านการดำเนินงานจึงควรแปรสภาพให้เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สองเสียก่อนน่าจะเหมาะสม แต่รัฐจะต้องมีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงาน ควบคุมราคาได้ ซึ่งการเลือกเส้นทางเดินควรจะเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชนในการตัดสินใจ

ขั้นตอนที่สอง เมื่อเลือกกิจการที่จะแปรรูปได้แล้ว ก็ต้องเข้ากระบวนการแยกส่วนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องแยกเอาลักษณะพิเศษ 3 ประการออกมา

ลักษณะพิเศษประการแรก ดังที่ผมได้กล่าวไว้ตอนต้น ว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรก ที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมีอำนาจรัฐที่จะบังคับเอากับเอกชนได้ หากแปรสภาพเป็นนิติบุคคลเอกชนแล้วจะต้องไม่มีอำนาจมหาชนหลงเหลืออยู่ในกิจการที่แปรสภาพออกมา เช่น การไฟฟ้า มีอำนาจปักเสา พาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินเอกชน หรืออำนาจในการเวนคืนที่ดินเป็นต้น

ลักษณะพิเศษประการที่สอง รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรกบางแห่ง มีลักษณะผูกขาดตามธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงการผูกขาดที่เกิดจากสภาพของรัฐวิสาหกิจ เช่นในกิจการไฟฟ้า เอกชนก็สามารถผลิตไฟฟ้าแข่งกับการไฟฟ้าได้ แต่การจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปส่งให้ถึงประชาชน ต้องอาศัยเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าเท่านั้น เพราะหากจะตั้งเสาไฟฟ้าขึ้นใหม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากยังงัยๆก็ไม่คุ้ม หรือแม้หากมีเงิน มากมายล้นฟ้าก็ตั้งเสาไฟฟ้าไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการตั้งเสาไฟฟ้า หรือพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชนอื่น จึงทำให้การไฟฟ้าเป็นผู้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าไปโดยปริยาย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นการแปรสภาพออกไปคงไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะไม่เกิดการแข่งขัน

ลักษณะพิเศษประการที่สาม ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุของรัฐ หรือใช้ที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินอยู่ หากจะแปรสภาพออกไปต้องให้แบ่งให้ชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นของรัฐวิสาหกิจ ส่วนไหนเป็นของแผ่นดิน ยกตัวอย่างการไฟฟ้าอีกนั่นแหละครับ การไฟฟ้าใช้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เขื่อนต้องเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น เพราะเขื่อนไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตประแสไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้นยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งอีก

ขั้นตอนที่สาม หากมีคำถามว่าเมื่อแยกลักษณะพิเศษของรัฐวิสาหกิจกิจแล้ว จะเอาไปไว้ที่ไหน จึงมีการเอาไปฝากไว้กับองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าองค์กรกำกับดูแลอิสระรายสาขา ซึ่งองค์กรพวกนี้นอกจากจะทำหน้าที่ถืออำนาจรัฐ ถือทรัพย์สินของรัฐ (เพื่อเอกชนรายใดต้องการใช้อำนาจดังกล่าวก็ต้องมาขออนุญาตกับองค์กรนี้) ยังทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อบริษัทที่ประกอบกิจการด้วยกัน และกับรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปด้วย และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย รวมไปถึงสามารถควบคุมราคาได้ด้วย

ขั้นตอนที่สี่ ตีราคารัฐวิสาหกิจ โดยดูมูลค่าทรัพย์สิน ผลประกอบการ กิจการที่ทำ แนวโน้มของผลประกอบการ และอื่นๆ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเค้าคิดกันยังงัย แต่เรื่องนี้มีผลกับส่วนได้เสียของผลประโยชน์ประเทศชาติ เช่น สมมุติตีราคาหุ้นการไฟฟ้า หุ้นละ 32 บาท แต่พอขายจริงราคากลับถีบไปถึง 100-200 บาท ซึ่งหากความแตกต่างของราคาดังกล่าว เป็นจำนวนหลักหน่วยคงพอยอมรับกันได้ แต่หากราคาต่างกันมากดังที่ยกตัวอย่างรัฐเสียประโยชน์เต็มนะครับ หากจะยังพอจำกันได้กับหุ้น ปตท. ที่ราคาเสนอขายกับราคาที่ซื้อขายจริงต่างกันลิบลับ ดังนั้นการตีราคาหุ้นจึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนนึง เคยมีผู้เสนอว่า ควรจ้างบริษัทเอกชน 5 บริษัท วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้บริษัทใดบริษัทเดียวกุมอำนาจตีราคา ซึ่งอาจเกิดการบิดเบือนราคาได้ โดยตัดราคาที่สูงสุด กับต่ำสุดออกไป แล้วพิจารณาราคาที่เหลืออยู่จะได้ราคาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด

ขั้นตอนที่ห้า กำหนดให้หุ้นที่รัฐถือเป็นหุ้นพิเศษที่เรียกว่าหุ้นทอง(Golden share) หุ้นทองนี้เป็นหุ้นที่ใครถือคนนั้นมีอำนาจบริหารในกิจการ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีอำนาจยับยั้งการบริหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประชาชน ที่เรียกว่าอำนาจ veto โดยหุ้นทองดังกล่าวรัฐไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้นแม้ว่าใครจะถือหุ้นมากเท่าไหร่ แต่ถ้ารัฐถือหุ้นทองซะอย่างก็ยังมีอำนาจในการบริหารกิจการได้ 555

หากทำได้ตามขั้นตอนที่ผมว่ามาเราจะได้รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเหมือนบริษัทเอกชน ที่รัฐสามารถควบคุมการบริหารงานได้ มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับเอกชนอื่น และจะมีองค์กรกำกับดูแลรายสาขาทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน รวมถึงควบคุมราคาให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

-4-
แสงสว่างอันริบหรี่จากศาลปกครอง

หากพิจารณาดูกระบวนการที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เทียบกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าการแปรรูปการไฟฟ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น โดยกระบวนการที่ผมยกมาจากผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการทั้งหลาย ที่รัฐนั่นแหละเป็นคนจ้างให้นักวิชาการไปทำวิจัย โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว แต่วิจัยเสร็จกลับเก็บขึ้นหิ้งซะงั้น ไม่รู้จะจ้างวิจัยทำไมให้เปลืองภาษีประชาชน

ซึ่งบทสรุปของผลงานวิจัยดังกล่าว เสนอให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วตรากฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่เนื่องจาก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้เพื่อแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน เป็นนิติบุคคลเอกชน เท่านั้น ไม่ครบกระบวนการทั้งหมดของการแปรรูปที่แท้จริง และมีจุดอ่อน ช่องว่างมากมายที่สามารถให้กลุ่มทุนทั้งชาติเดียวกัน และต่างชาติเข้ามาแบ่งเค้กรัฐวิสาหกิจกินกันอย่างเอร็ดอร่อย โดยที่เจ้าของเค้กอย่างเราๆท่านๆ ได้แต่ยืนมองกันตาปริบๆ

ดังนั้น การคัดค้านการแปรรูปที่ควรจะเป็นคือการให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ โดยอาจจะเข้าชื่อ ห้าหมื่นรายชื่อ เสนอร่างกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าสภา หรือหากไม่ต้องการให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆเลย ก็เข้าชื่อเสนอ พรบ.ยกเลิกพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจก็ได้ การคัดค้านการแปรรูปโดยการยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ มีผลเพียงการชะลอการขายหุ้นการไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกการแปรรูปไปเลย

การยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า กับพรฎ.เงื่อนเวลายกเลิก พรบ.การไฟฟ้า แม้โอกาสในการชนะคดีจะมืดมน แต่ ด้วยความเคารพต่อศาลปกครอง ตามความเห็นส่วนตัวของผมก็ไม่ใช่ว่าจะปิดประตูแพ้เสียทีเดียว ยังมีแสงสว่างริบหรี่ๆให้พอมองเห็นทางบ้าง

พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ผมยังไม่ได้อ่านตัวเต็มของกฎหมายตัวนี้ แต่อนุมานว่าคงจะเหมือนกับตอนแปรรูปองค์การโทรศัพท์ เนื้อหาคงเป็นให้ บมจ.การไฟฟ้ามีอำนาจปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินบุคคลอื่น หรือมีอำนาจตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตระเกะระกะสายไฟฟ้า ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ มาตรา 26 ออกกฎหมายฉบับนี้มา ดูเผินอาจจะไม่เห็นประเด็นเพราะทำถูกต้องตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ดังกล่าว

แต่ ประมาณปลายปี 2546 ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานราชการ ใช้บริการโทรศัพท์จาก บมจ.ทศท. คอร์ปอร์เรชั่น(องค์การโทรศัพท์หลังแปรรูป) ก่อน หาก ทศท.ให้บริการไม่ได้ค่อยพิจารณาบริษัทอื่น คำสั่งศาลปกครองฉบับนี้มีนัยยะสำคัญว่า การที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่ บมจ.ทศท. ซึ่งนิติบุคคลเอกชน มากกว่า นิติบุคคลเอกชนอื่นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักความเสมอภาค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากเทียบในกรณีของ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นการให้สิทธิพิเศษกับนิติบุคคลเอกชนเช่นกัน ก็น่าจะขัดกับหลักความเสมอภาคดุจเดียวกัน

พรฎ.ยกเลิก พรบ.การไฟฟ้า กฎหมายตัวนี้จริงๆ แล้วขัดกับหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน ที่ให้กฎหมายลำดับต่ำกว่าคือพระราชกฤษฎีกา ไปยกเลิกกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าคือพระราชบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยตัดสินไว้แล้วว่า กรณีไม่ขัดกับลำดับศักดิ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ยกเลิก พรบ.จริงๆแล้วคือพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พรฎ.เป็นเพียงกำหนดเงื่อนเวลาเท่านั้น เช่นกันครับมองเผินๆ อาจจะดูว่ากรณีนี้ปิดประตูชนะอีกกรณีนึง เพราะประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินมาแล้ว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

แต่เดี๋ยวก่อนครับท่านผู้อ่าน ผมมีข้อสังเกตดังนี้

ประการแรก แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยตัดสินในกรณีดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการตัดสินในประเด็นที่ว่า พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจขัดรัฐธรรมนูญครับ ไม่ใช่เรื่องพรฎ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

ประการที่สอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรก็แต่เรื่องหรือประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เท่านั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่บ่อเกิดแห่งกฎหมาย หรือไม่ใช่ตัวบทกฎหมายที่ศาลปกครองจะต้องหยิบยกขึ้นมาใช้ในการตัดสินคดี ดังนั้หากศาลปกครองจะยกหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมายกเลิก พรฎ.ตัวนี้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ประการที่สาม อันนี้ขาดเหตุผลทางกฎหมายอย่างสิ้นเชิงครับ แต่ศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินขัดแย้งกัน(ผมเรียกว่างัดข้อกัน) ในเรื่องอำนาจศาลในการควบคุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วศาลปกครองจะเห็นด้วยไปซะหมดนะครับ

ดังนั้นหากฝ่ายคัดค้านชนะคดี ผมว่าน่าจะเป็นการจุดประกายไฟการทบทวนการแปรรูปรัฐวิสหากิจ ให้เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เพราะการแปรรูปตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับนี้เสมอ รัฐจะต้องออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น


Wednesday, November 09, 2005

ขายบุหรี่

เมื่อเช้านี้ระหว่างกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องจะออกไปทำงาน แว่วเสียงคุณสรยุทธ แห่งเรื่องเล่าเช้านี้ กำลังสัมภาษณ์บุคคลในข่าวเรื่องการห้ามวางจำหน่ายบุหรี่ในที่ด้านหลังเคาน์เตอร์ของร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค นายกสมาคมผู้ค้ายาสูบ และ CEO คนเก่งแห่ง 7-eleven แล้วบังเกิดความสนอกสนใจเพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผมเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมาเล่าข่าวคืนนี้กัน

เท้าถึงความหนหลังฟังได้ว่า กรมควบคุมโรคเกิดอยากจะบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ตามมาตรา 8 แห่ง พรบ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 (เอาตอนพุทธศักราช 2548 ซึ่งล่วงเลยเวลามาถึง 13 ปีนับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ)

มาตรา 8 ดังกล่าว ท่านว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของ
ผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ หรือใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการแสดง การแข่งขัน การให้บริการหรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์ให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ

แปลไทยเป็นไทยง่ายๆจะได้ความว่า “ห้ามโฆษณาบุหรี่” ซึ่งหากพิจารณาดูกันจริงๆ จะพบว่าไม่มีตอนใดของกฎหมายที่จะให้ตีความรวมไปถึงการวางขายบุหรี่ธรรมดาๆ แต่ที่นี่ประเทศไทย จ้าวแห่งการตีความ จึงได้นำคำนิยามของกฎหมายคือคำว่า “โฆษณา” ซึ่งหมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า มาประกอบกัน รวมแล้วเลยได้ความว่า การที่ร้านสะดวกซื้อวางขายบุหรี่นั้นถือเป็นการโฆษณา มีความผิด มีโทษปรับครับ

และด้วยความรอบคอบของฝ่ายราชการ กรมควบคุมโรคจึงส่งให้ฝ่ายกฎหมายของแผ่นดิน หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตีความ ทางฝ่ายกฎหมายก็เกรงว่าฝ่ายที่ส่งเรื่องมาจะเสียน้ำใจจึงตีความให้ว่า การจะถือว่าการวางขายบุหรี่เป็นการโฆษณาหรือไม่นั้นต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป และได้ยกตัวอย่างว่าการจะถือว่าเป็นการโฆษณาอันจะเป็นความผิด ก็เช่น วางซองบุหรี่เรียงติดๆกันให้สะดุดตาประชาชนที่เข้ามาซื้อของ หรือมีการซื้อพื้นที่ในการวางจำหน่ายของบริษัทบุหรี่ทั้งหลาย

ทั้งนี้ทั้งนั้นฝ่ายรัฐให้เหตุผลของการกระทำดังกล่าวว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดติดในตราหรือแบรนด์ของบุหรี่ อันอาจส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ในอนาคต และเพื่อลดการบริโภคบุหรี่ของประชาชน

ฟังเหตุผลผมรู้สึกทะแม่งทะแม่งยังไงชอบกล หากใช้หลักกฎหมายมหาชนเรื่องหลักความได้สัดส่วน ที่มีหลักเกณฑ์ว่า การกระทำของรัฐที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ต้องได้สัดส่วน ซึ่งไอ้หลักสัดส่วนที่ว่ามันใช้อย่างนี้ครับ คือดูการกระทำของรัฐแล้วตอบคำถาม 3 ข้อนี้ ว่าเป็นไปตามนี้แล้วหรือยัง
1. วิธีการกระทำนั้นต้องเป็นวิธีที่ทำแล้วได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่จะทำ
2.ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว
และ 3.ทำแล้วคุ้มค่ากับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เสียไป มาวิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้สัดส่วนกันเลย แค่ข้อแรกก็ตอบไม่ได้แล้วครับ

ผมตั้งคำถามเองตอบเอง ในฐานะสิงห์อมควันคนนึง ว่า

1.ถ้าเด็กไม่เห็นบุหรี่ในร้านสะดวกซื้อ เด็กจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลยหรือว่าซองบุหรี่หรือบุหรี่หน้าตาเป็นยังไง
-ผมตอบเลยว่าเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่บุหรี่ยังไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย

2. พวกสิงห์อมควันทั้งหลายไม่เห็นบุหรี่วางโชว์ไว้แล้วเค้าจะไม่สูบบุหรี่เลยหรือ
-ตอบเองอีกว่าไม่ใช่ ถ้าเค้าไม่เห็นเค้าจะถามว่ามีขายไหม ถ้าไม่มีจะไปซื้อร้านอื่นที่มี

3. ถ้าคนที่ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เห็นซองบุหรี่แล้วจะเกิดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาทันทีเลยหรือ
- ผมก็ตอบอีกว่า บุหรี่ไม่ใช่ขนมเค้กนะครับ ที่เห็นหน้าตาแล้วอยากกิน และจากประสบการณ์ถามบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยกันว่าเริ่มสูบบุหรี่ได้ยังไง ร้อยละ 99.99 จะตอบว่าสูบตามคนอื่น เห็นคนอื่นสูบเลยอยากสูบด้วย ทั้งเห็นจากเพื่อนด้วยกัน จากพ่อหรือญาติใกล้ชิด จากดาราหนัง จากการ์ตูน ไม่มีใครตอบผมว่าเห็นซองมันสวยดีเลยอยากสูบ และขอโทษเถอะครับ ซองบุหรี่สมัยนี้ ผมเห็นแล้วยังไม่อยากสูบเลยครับ นับประสาอะไรกับคนไม่เคยสูบบุหรี่

ผมเลยคิดว่ามันไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกที่ควรสำหรับเหตุผลของฝ่ายรัฐ หากถามผมเองว่าแล้วควรรณรงค์แบบไหนล่ะ ผมตอบเลยว่าผมกลัวพวกตัดกล่องเสียงที่สุดครับ พวกมีรูที่คอ จะพูดทีต้องใช้เครื่องช่วย เอาพวกนั้นมาโฆษณาทุกวันซิครับ ไม่แน่ว่าผมอาจจะเป็นคนแรกที่ยกมือของเลิกบุหรี่

มาดูทางฝั่งร้านสะดวกซื้อกันมั่ง ซึ่งเค้าก็ไม่ยอมซิครับ ใครจะยอมล่ะ ก็เค้าวางขายของเค้ามานมนานกาเล อยู่จะมาบอกว่าเป็นความผิดได้ยังไง ตัวแทนจากฝ่ายร้านสะดวกซื้อให้เหตุผลว่า การวางขายบุหรี่ ก็เหมือนกับวางขายขนมปังนั่นแหละ มีที่ว่างตรงไหนก็วางตรงนั้น ไม่เห็นจะเป็นการโฆษณาตรงไหนแต่ที่ต้องวางไว้หลังเคาน์เตอร์เพื่อให้สะดวกในการควบคุมการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 อุตสาห์สนอง นโยบายรัฐบาลแล้ว จะมาบอกว่าเค้าโฆษณาไม่ได้ ทาง CEO คนเก่งก็ให้เหตุผลว่า ถ้าไม่วางไว้ให้คนเห็นจะผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดให้ร้านค้าต้องวางสินค้าที่จะขายให้ประชาชนเห็น

ผมว่าเหตุผลของฝ่ายรัฐฟังไม่ค่อยจะขึ้นแล้วนะ มาฟังอีกฝ่าย นึกภาพออกเลยครับว่าสีข้างแดงแจ็ดแจ๊ ตรงมือมีร่องรอยการบาดเจ็บจากการกระทบกับของแข็ง

ถ้าจะควบคุมการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี น่ะ วางตรงไหนก็ได้ครับ เพราะสุดท้ายเค้าก็ต้องเอาบุหรี่มาจ่ายเงินอยู่ดี เว้นแต่ว่าเด็กคนนั้นจะขโมยบุหรี่ ซึ่งมางร้านไม่มีทางที่จะให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น

ถ้าบอกว่าไม่มีเจตนาจะโฆษณาแล้วทำไมต้องวางให้สะดุดตาขนาดนั้น สมมุติว่าผมจะเข้าไปซื้อของซักอย่างในร้าน เช่นผมจะซื้อขนมปัง ผมต้องมองหาก่อนว่าของมันวางอยู่แห่งหนตำบลใด แต่บุหรี่นี่ไม่ต้องมองก็เห็นครับ

ส่วนเหตุผลสุดท้ายฟังดูเข้าท่าสุด ถ้าไม่วางบุหรี่ให้คนเห็นจะผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้ผมเห็นว่ากม.ควบคุมบุหรี่เป็นกฎหมายเฉพาะ คือเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องเฉพาะราว กรณีนี้คือเรื่องการขายบุหรี่ ส่วนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายทั่วไป ตามหลักกฎหมายแล้ว มีกฎหมายเฉพาะต้องใช้กฎหมายเฉพาะก่อนกฎหมายทั่วไปครับ ดังนั้นเหตุผลนี้จึงตกไป

ซึ่งในประเด็นเรื่องเหตุผลนี้เมื่อเช้าคุณสรยุทธถามโดนใจผมมากเลย แกถามว่า คุณ(ร้านค้า)ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์หรือ เพราะกระแสมันแรงพอที่จะปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านร้าน 7-อีเลฟเว่น คุณก่อศักดิ์ CEO คนเก่ง ตอบว่าไม่กลัวเพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งผมเห็นว่าขัดกับหลักคนทำธุรกิจเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะตราสินค้าหรือแบรนด์นี่ผมว่าน่าจะมีความสำคัญมาก จนบางทีไม่อาจประเมินค่าได้ การสวนกระแส ทั้งที่ถ้าตามกระแสก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหายแต่ประการใด แต่เค้าไม่ทำ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่ามีอะไรเบื้องหลังหรือเปล่า เช่นมีการให้ผลประโยชน์จากบริษัทบุหรี่หรือเปล่าที่ให้วางขายตรงจุดนี้ เพราะว่าผมว่าการวางขายให้เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบถึงยอดขายตามเหตุผลของสิงห์อมควันที่ผมให้ไว้ข้างต้น

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งงงกับตัวผมว่าผมจะเอายังไงกันแน่ เดี๋ยวด่ารัฐ เดี๋ยวด่าเอกชน จุดยืนผมง่ายๆว่า กรณีนี้ผมเห็นว่ารัฐทำไม่ถูกตามหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น และไม่ส่งผลที่จะตอบสนองความต้องการของรัฐได้ เพราะสุดท้ายคนก็สูบบุหรี่เหมือนเดิม เด็กก็อยากลองสูบเหมือนเดิม แต่การกระทำของรัฐดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือกระแสการต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างกลายๆ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เห็นควรให้ทำต่อไป ส่วนทางฝั่งร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ผมไม่เห็นว่าการที่ไม่โชว์บุหรี่ แต่ขึ้นป้ายว่ามีขายบุหรี่จะทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงแต่อย่างใด ถ้าท่านทำสังคมจะสรรเสริญท่าน แต่ถ้าท่านยังยืนกรานไม่ทำ ผมว่าผลเสียจะตกอยู่กับท่านนะกรับ คิดดีๆ กรับ

Sunday, November 06, 2005

ขาลง?

















พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร VS เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุณว่าใครจะขึ้นก่อนกัน?

"ขาลง" ตามพจนานุกรมฉบับนายธนุสแปลว่า "คราวตกต่ำ" หากจะสังเกตว่าบุคคลใดอยู่ในช่วงขาลง ต้องพิจารณาถึงสององค์ประกอบ องค์ประกอบแรก องค์ประกอบของการกระทำ กล่าวคือบุคคลคนนั้นทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ ทำอะไรแล้วตั้งใจจะให้เกิดผลอย่างนึงกลับไปเกิดผลอีกอย่างนึง อาทิเช่นตั้งใจหาเสียงกับประชาชน ก็ได้เสียงจากประชาชนมาจริงๆ แต่เป็นเสียงบริภาษทั่วสารทิศมาแทน ฯลฯ แต่หากเป็นช่วงขาขึ้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือฟลุค ทำอะไรก็ดูดีไปหมด

องค์ประกอบที่สอง การตอบรับของการกระทำ กล่าวคือ ในสายตาของคนนอก บุคคลคนนั้นทำอะไรก็ผิดไปหมด ไม่ว่าจะก้าวตีนซ้าย คนภายนอกก็จะด่าว่าทำไมไม่ก้าวตีนขวา แต่หากเป็นช่วงขาขึ้น ขนาดขี้ก็ยังว่าหอม

แต่อย่าลืมนะครับว่ามีขาลงก็ต้องมีขาขึ้น ว่าแต่ว่าใครจะขึ้นก่อนกันล่ะกรับ

Thursday, October 13, 2005

เสรีภาพสื่อมวลชน

ตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของคุณทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็มีความพยายามจะทำให้ระบบการตรวจสอบตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญพิกลพิการใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ แต่แม้ว่าจะหนีการตรวจสอบอย่างไรก็หนีไม่พ้นการตรวจสอบของบรรดาสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ย เรื่องราวการทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายอำนาจรัฐมาตีแผ่ให้ประชาชนตาดำๆ ได้รู้ข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างกรณีการทุจริตเรือขุดเอลลิคอต กรณีค่าโง่ทางด่วน หรือแม้แต่กรณีคดีซุกหุ้นของคุณทักษิณ ถ้าสื่อมวลชนเป็นหมาเฝ้าบ้านแล้วไซร้ ผมยกให้เป็นหมารอตไวเลอร์ ตัวใหญ่ ประเภทกันแล้วไม่ปล่อย เหมาะสมกับการนำมาเฝ้าบ้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความไม่ชอบมาพากลอย่างประเทศไทย

แต่ผมไม่ได้เขียน blog ตอนนี้เพื่อยกย่องสื่อมวลชนแต่อย่างใด แต่ผมกำลังสงสัยใน “เสื้อเกราะกันกระสุน” ที่คุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่มีชื่อในการกฎหมายว่า “เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน” ทั้งๆที่กฎหมายให้เสื้อเกราะดังกล่าวไว้เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่โดยสุจริตของตนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สังคมโดยเฉพาะเจ้าของเสื้อเกราะกำลังตีความให้เสื้อเกราะตัวนี้ เป็นเหมือนป้ายอาญาสิทธิ์ที่ใครก็ล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าตนเองจะละเมิดจรรยาบรรณของตนเองหรือไม่

แน่นอนว่าใครๆก็ยอมรับว่าสื่อมวลชนต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าวสาร ต้องปราศจากการแทรกแซงการทำงานไม่ว่าจากหน่วยงานของรัฐ หรือจากกลุ่มทุนที่เข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างที่ไม่อาจทราบได้ ทุกๆครั้งที่สื่อมวลชนเป็นฝ่ายถูกกระทำ กระแสสังคมมักจะเอาใจช่วยฝ่ายสื่อมวลชนอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากกรณีการเข้าซื้อไอทีวีของกลุ่มชินคอร์ป กรณีการฟ้องนักข่าวของไทยโพสต์ กรณีการเข้าซื้อหุ้นมติชนและโพสต์ของคุณไพบูลย์ หรือแม้แต่กรณีล่าสุดอย่างการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากช่อง 9 และการที่คุณทักษิณฟ้องคุณสนธิ ทุกกรณีกระแสสังคมต่างชูธงเสรีภาพสื่อมวลชน ปลอดจากการแทรกแซง แม้ว่าอีกฝ่ายจะทำตามถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ก็ไม่วายโดนด่ากลับไปเลียแผลที่บ้านทุกรายไป

อย่างล่าสุดมีการจัดแถลงข่าวร่วมกันของสื่อมวลชนไทย กับองค์กรสื่อจากเมืองนอก ซึ่งได้พูดถึงกรณีการฟ้องร้องสื่อมวลชนของคุณทักษิณที่ฟ้องคุณสนธิ ว่าไม่ควรทำ เพราะคุณทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ ไม่ควรใช้สิทธิทางศาลปกป้องตัวเอง ผมอ่านแล้วจะสรุปว่าบุคคลสาธารณะใช้สิทธิทางศาลไม่ได้ (ในสายตาของสื่อมวลชน) ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริงซักเท่าใดนัก

เมื่อพูดถึงบุคคลสาธารณะ ในช่วงหลังๆ ผมมักจะนึกถึงโฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อนึง ที่ใช้การเล่นคำพ้องเสียง โดยเริ่มต้นที่ว่า “ศรี”ทนได้คะ แล้วก็ให้ “ศรี” ทำงานบ้านอย่างหนักหน่วง ใครเห็นก็ต้องสงสาร และมาบอกในตอนสุดท้ายว่า สีที่ทนได้ต่อทุกสภาวะอากาศน่ะคือสีทาบ้าน หาใช่ “ศรี” ที่เป็นคนไม่ ซึ่งดูไปดูไปสภาพของบุคคลสาธารณะก็คล้ายกับ “ศรี” ในโฆษณาเช่นกัน คือต้องอดทนต่อทุกสภาวะ ตอบโต้อะไรก็ไม่ได้ ต้องเป็น “ศรี” ของสังคม ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ด่าได้มาอัธยาศัย ซึ่งผมลองนึกทบทวนวิชากฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมา ไม่พบว่าคำว่า “บุคคลสาธารณะ” มีความหมายในทางกฎหมายแต่อย่างใด และไม่มีกฎหมายใดๆที่จะห้ามไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลได้

ไม่มีสิทธิและเสรีภาพใดที่สามารถใช้ได้โดยปราศจากขอบเขต หากใช้เกินขอบเขตย่อมต้องมีความรับผิดเป็นธรรมดา ในกรณีที่คุณทักษิณหรือกรณีของบริษัทชินคอร์ป ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ก็เพราะหากสื่อมวลชนทำตามจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนที่ดีแล้วนั้น กฎหมายก็รับรองและก็คุ้มครองให้อยู่แล้ว นอกซะจากว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง หรือกระทำการโดยไม่สุจริตใจ

ผมลงท้ายด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237-238/2514 ให้อ่านไว้เป็นอุทาหรณ์ สื่อมวลชนแอบแฝงบางคน

การที่จำเลยป่าวประกาศ ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ว่าโจทก์เป็นผู้ไม่นิยมการปกครองระบอบที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งเป็นที่น่ารังเกียจของประชาชนชาวไทย และการป่าวประกาศซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงว่าโจทก์เป็นคนโลภอำนาจทางการเมืองและมักใหญ่ใฝ่สูง ยอมทิ้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และและกลายเป็นผู้ที่ประชาชนชิงชังจนไม่อาจอยู่ประเทศไทยได้ ดังนี้ ย่อมเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ มีความผิดฐานละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลาย ตามมาตรา 423 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Thursday, September 29, 2005

ภาษาไทยวันละคำ

ภาษาไทยวันละคำ วันนี้เสนอคำว่า “คิดได้ไงวะ”

คำว่า “คิดได้ไงวะ” เป็นภาษาพูดของคำว่า “เขาคิดสิ่งนั้นขึ้นมาได้อย่างไร” ใช้ได้สองความหมาย ความหมายแรกสำหรับความคิดที่ไม่มีใครคิดถึงมาก่อน ในทำนองชื่นชม ทึ่ง ในความสามารถของผู้คิด ความหมายที่สอง ใช้ในความหมายของความคิดที่ไม่เข้าท่า ทุเรศทุรัง ผู้พูดรู้สึกอับอายแทนเจ้าของความคิด มักใช้คู่กับคำว่า “เอาสมองส่วนไหนคิดวะ” ถ้าจะให้ได้อารมณ์แบบฮาร์ดคอร์ ต้องใช้คำนามที่ใช้เรียกสัตว์เลื้อยคลาน 4 ขา ที่ชอบเดินแถวทำเนียบรัฐบาล กับคำนามที่ใช้เรียกบุพการีของบุคคลที่สองประกอบ รวมกันจะได้เป็น “เ...ย แม่.. คิดได้ไงวะ!!”

เมื่อก่อนคำๆนี้มักใช้กับวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ หนังสือนิยาย เพลงและมักใช้ในความหมายแรกมากกว่าอย่างหลัง และค่อยๆมีวิวัฒนาการมาใช้กับวงการตลก ในความหมายที่สองมากขึ้น ปัจจุบัน คำนี้ปรากฏมากขึ้นในวงการการเมือง

เรามาดูตัวอย่างของการใช้คำว่า “คิดได้ไงวะ” จากดาราตลกกิตติมาศักดิ์ ทั่นปั๊ตตานา จากคณะเหลี่ยมเชิญยิ้ม

บุคคลทั่นนี้ส่งเสริมชาวนาเลี้ยงกุ้งกุลาดำในที่นาของตนเอง ทั้งๆที่กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งทะเล??

แต่ผลงานที่ทำให้โด่งดังเป็นพลุแตก คือวาทะแห่งปีที่สูสีกับวาทะที่ว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ”
ได้แก่วาทะที่บริภาษนักเรียนอาชีวะที่ตีกันในงานคอนเสิร์ตว่า “พวกสมองควาย”

ต่อมาทั่นก็ได้ผลิตผลงานประเภท “คิดได้ไงวะ” ออกมาอย่างต่อเนื่องราวกลับกลัวว่าทั่นหัวหน้าคณะจะไม่เห็นผลงาน ซึ่งผลงานต่อมา คือการเจรจาการค้าเสรี ทั่นได้เสนอแนวคิดเด็ดอีก ว่า “การค้าเสรีจะนำมาซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ จะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องแยกกันระหว่างผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยกับคนส่วนใหญ่ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถทำมาหากินกับอาชีพเดิมได้ ก็ให้เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเลย!!!(ไป๊)

แนวคิดต่อมาก็สร้างความฮือฮาสะท้านวงการอีกครั้ง กับแนวคิดนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้มากอันดับต้นๆของโลก โดยให้เหตุผลว่า เราส่งออกข้าวมาก กลัวข้าวในประเทศจะขาดแคลน!!!


ยังไม่หมดเท่านี้ มีต่อกับวิธีคิดแบบ “คิดได้ไงวะ”


ปัญหาเด็กทารกถูกทิ้งตามถังขยะ จะทิ้งก็อย่าทิ้งเลยถังขยะ มันเหม็น สงสารเด็ก ผิดกฎหมายด้วย มาทิ้งกับทั่นนี่ เดี๋ยวทั่นดูแลให้ มีปัญญาเลี้ยงเมื่อไหร่มาเอาคืนไป ถ้าไม่คิดจะเลี้ยงแล้วยกให้ทั่นไปเลย ทั่นไม่ว่า (ดีไม่มีโปรโมชั่นพิเศษ ทิ้ง 2 คน โทรมือถือฟรี 24 ชั่วโมง

นักเรียนอาชีวะตีกัน อยากตีกันนัก ชอบใช้กำลังกันนักใช่ไหม เอาไปเป็นผู้พิทักษ์สังคม ทำหน้าที่จับขอทาน!!


เด็กซิ่งรถแข่งกันบนถนน เอาอยากซิ่งกันเดี๋ยวปิดถนนให้ซิ่งกันตามใจชอบ อยากได้ถนนเส้นไหนบอกเดี๋ยวจัดให้

วันนี้คงจบแต่เพียงเท่านี้ สวัสดี


***อ๊ะอ๊ะ!!?? อย่าลืมนะครับว่ามันมีสองความหมาย ส่วนจะใช้ในความหมายใดก็เชิญตามอัธยาศัย***

Wednesday, September 21, 2005

แจ้งข่าวโฆษณา

ตอนนี้หายไปนานเนื่องจากติดภารกิจการศึกษา ตอนแรกกะจะเขียนเรื่องอากู๋ซะหน่อย ก็ปรากฏอากู๋ใจไม่สู้ถอนทัพซะก่อน เลยหมดมุข

และตอนนี้ผมกำลังเกลี้ยกล่อม ชักจูง ว่าที่นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ ผู้มีข้อมูลวงในทางการเมืองมาเม้าท์ เอ้ย!! มาร่วมขีดๆเขียนๆ กันในชุมชน blogger แห่งนี้ ส่วนลีลาจะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหนโปรดติดตาม (ถ้าสำเร็จจะแจ้งให้ทราบอีกทีหนึ่ง)

ส่วนตัวผมขอตัวไปทำงานการศึกษาต่อนะคร้าบ

Wednesday, September 07, 2005

สงครามก๋วยเตี๋ยวเรือ

เที่ยงวันของวันเสาร์วันนึงเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว หลังจากที่ผมและผองเพื่อนทั้งหมดนับหัวรวมได้ 13 คน เสร็จสิ้นภารกิจการวิ่งไล่หวดลูกหนัง แถวๆซอยโยธี ใกล้ๆกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภายใต้ความเหน็ดเหนื่อยตามประสาคนนานๆออกกำลังกายที พวกผมก็เดินทางออกจากสนามบอลด้วยอาการของคนหิวโหยขนาดกินช้างได้คนละตัว มุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ชัยฝั่งถนนพหลโยธินอันเป็นบริเวณที่สิงสถิตของบรรดาร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือทั้งหลาย


ท่ามกลางแสงแดดที่สาดส่องอย่างไม่ปราณีใคร อากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวของตอนเที่ยงวันผสมกับความเหนื่อยล้าหลังเตะบอลมา ทำให้ผมและชาวคณะเลือกร้านก๋วยเตี๋ยวเรือที่อยู่มุมสุดที่ชื่อป๋ายักษ์ เพราะเป็นร้านเดียวในตอนนั้นที่ติดแอร์ประกอบกับโปรโมชั่นสุดพิเศษ กิน 20 ชาม แถมโค้กลิตร 1 ขวด ทำให้ผมคิดในใจ “ป๋ายักษ์เสร็จกูแน่” (แต่เอาเข้าจริง ๆ พวกผมต่างหากที่เสร็จป๋ายักษ์ เพราะโค้กลิตรที่แถมก็กินกันไม่หมด แถมแกคิดค่าแอร์พวกผมด้วยคนละ 3 บาท)



เมื่อก๋วยเตี๋ยวเรือชามแรกมาถึงผมก็ไม่รอช้ารีบจัดการโซ้ยด้วยความหิวโหย ซึ่งหากนับตั้งแต่เที่ยงวันของเมื่อวันวาน ยังไม่อะไรตกถึงท้องผมเลย นอกจากสุรา โซดา น้ำเปล่า และเกเตอร์เรท ในไม่ช้าเสียงพูดคุยในโต๊ะก็เริ่มสงบลง เมื่อทุกคนมีจุดหมายเดียวกันคือจัดการสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้หมดไป ผมกินไปได้ 2 ชาม ก็ได้ยินเสียงใครบางคนพูดออกมาว่า


“เฮ้ย”


ผมเงยหน้ามามองเจ้าของคำอุทาน เห็นมันทำหน้ากึ่งจริงจังกึ่งเล่นๆ พร้อมกับพูดว่า



“หารเท่านะโว้ย”



ทำให้ผมต้องเหลือบไปมองอนุสาวรีย์แห่งความหิวโหยที่กองอยู่ตรงหน้ามัน พร้อมกับนับคร่าวๆ มันมากกว่าของผมเท่านึง สมองผมก็เริ่มคำนวณถึงจุดคุ้มทุนหากรับปากมันไป ในขณะที่ผมกำลังคำนวณศักยภาพในการกินของตัวเองอยู่นั้น เพื่อนของผมอีกคนก็รับหลักการ “หารเท่า” ทันที โดยการทำตัวเป็นโฆษกประกาศให้ทุกคนได้ยินทั่วถึงกัน ทำให้อารมณ์ของการเอาชนะคะคานได้ปะทุขึ้นในใจของผมและของใครอีกหลายคน จริงๆไอ้เรื่องหารเท่าไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ แต่เรื่องกินเยอะกินน้อยเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีจะยอมกันไม่ได้ ยิ่งกินเยอะกว่าคนอื่นและหารเท่า ซึ่งก็หมายความว่าเราจ่ายน้อยกว่าคนอื่น เป็นความภาคภูมิใจอย่างนึงของคนกินก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์ (ไม่รู้คิดได้ไง)



สงครามก๋วยเตี๋ยวเรือจึงได้อุบัติขึ้น จากเดิมที่แต่ละคนสั่งทีละ 2 ชาม 3 ชาม กลายเป็นสั่งทีละ 5 ชาม (สั่งรวมๆกัน) จากธรรมดาที่เคยกินแค่ 6 ชามอิ่ม ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่มีใครยอมใคร ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตากินให้ได้เยอะที่สุดเพื่อสร้างความได้เปรียบตอนจ่ายตัง แต่คนที่ยิ้มแก้มปริก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ป๋ายักษ์เจ้าของร้านนี่เอง ที่อยู่ๆดีก็มีคนมาสร้าง demand ให้กับร้าน ทั้งๆที่ร้านของแก หากเปรียบเทียบเรื่องรสชาติจะด้อยกว่าร้านอื่นอย่างเห็นได้ชัด


ท่ามกลางเสียงยกธงขาวยอมแพ้ “กูไม่ไหวแล้วว่ะ” ของสหายสงครามหลายคน หาได้ทำให้ผมท้อแท้ไม่ ผมยังคงกินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง อนุสาวรีย์แห่งความหิวโหยที่ได้เปลี่ยนเป็นอนุสาวรีย์แห่งศักดิ์ศรีการกิน ก็กองสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จนในที่สุดในสมรภูมิก๋วยเตี๋ยวเรือก็เหลือผู้รอดชีวิตอยู่เพียง 3 นาย คือผม ,เจ้าของวลี “หารเท่า” และทั่นโฆษก นับดูผลงานของแต่ละคน ผมกินได้ที่ 13 ชามเท่ากันกับไอ้เจ้าโฆษก แต่ไอ้ตัวอาชญากรสงครามมันกินได้ 14 ชาม พร้อมกับสีหน้าท่าทางที่บ่งบอกว่า “กูไม่ไหวแล้ว” ผมก็เลยถือโอกาสประกาศสงบศึก และกำลังจะยกตำแหน่งผู้ชนะให้แก่มันไป เพราะหากยังถือศักดิ์ศรีกินมากกินน้อยต่อไป ผมเล็งเห็นผลว่าไม่เป็นชูชกท้องแตกตาย ก็ต้องมีการคายของเก่าทิ้งกันบ้างล่ะ


แต่สงครามครานี้ไม่ยอมจบง่ายๆครับ เมื่อปรากฏ “ตาอยู่ร่างยักษ์” เพื่อนผมที่เดินทางจากปิ่นเกล้ามาอนุสาวรีย์ชัยเพื่อกินก๋วยเตี๋ยวเรือโดยเฉพาะ พอมันมาถึงโฆษกคนเดิมก็ประกาศกติกาอย่างไม่เกรงใจผู้มาทีหลังทันทีว่า “มาก่อน มาหลัง หารเท่าหมด” ชายร่างยักษ์ผู้มาทีหลังบ่นเป็นเชิงน้อยใจว่า “ทำไมไม่โทรมาบอกให้เร็วกว่านี้ กูเพิ่งกินข้าวไป 2 จานนะโว้ย หารเท่าเลยหรือวะ” แต่ไอ้คนที่ประกาศตัวว่าเพิ่งกินข้าวมา 2 จานนี่แหละครับ กลับมาแรงแซงทางโค้ง กินคนเดียวและรวดเดียว 16 ชาม คว้าตำแหน่งแชมป์ไปครองอย่างพลิกความคาดหมาย พร้อมกับประกาศว่า “กูยังกินได้อีกนะเนี่ย แต่เกรงใจพวกมึงต้องมานั่งรอกูกินคนเดียว” โถให้รอน่ะผมรอได้ แต่เห็นมันกินแล้ว ผมและผองเพื่อนผะอืดผะอมครับ อยากอ๊วกต่อหน้ามันให้ได้ซิหน่า ทรมานจริงๆ แทนที่จะกินกันอย่างมีความสุข นั่งคุยกันไปเพลินๆ กินพอดี ๆ ก็น่าจะพอแล้วคิดไปคิดมาก็เพราะไอ้คำว่า “หารเท่า” แท้ๆ เลยเป็นอย่างนี้


ที่มารำลึกความหลัง เพราะวันนี้ผมได้มีโอกาสไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือที่อนุสาวรีย์เมื่อตอนเย็น ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้คือ ทุกร้านติดแอร์หมดแล้ว และราคาก็เพิ่มเป็น 7 บาท แต่ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือผมยังไม่ได้กินข้าวตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น มีแต่ สุรา โซดา น้ำเปล่า และกาแฟเย็น ที่ได้สัมผัสกระเพาะของผมในรอบวันที่ผ่านมา แต่ผมกินแค่ 6 ชามก็อิ่มแล้ว ทำให้ผมนั่งนึกย้อนกลับไปว่า ตอนนั้น “ยัด” เข้าไปได้ไงวะนี่ ตั้ง 13 ชาม!?!?!?

Thursday, September 01, 2005

ไร้สาระกับ Owen และ Newcastle

รูปจาก www.nufcth.com

กลับมาใหม่อีกครั้งตามคำเรียกร้องของตัวเอง ที่หายไปนานเนื่องจากเกิดมรสุมชีวิตที่ office คือมีคนในฝ่ายผมลาออกไปคนนึง และแผนกผมก็ไม่ยอมรับคนใหม่มาทำแทน งานก็เยอะขึ้นเยอะขึ้น วัน ๆ ผมแทบจมกองแฟ้มลูกค้าตายคา office(ไม่รู้ว่าถ้าตายจริงจะมีเงินพิเศษให้หรือปล่าว เพราะตายขณะปฏิบัติหน้าที่) กลับบ้านก็ไม่ต้องทำอะไร นอนอย่างเดียว ไม่มีเวลาเลยจริงๆ ขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่รู้ว่าผมจะเรียนจบเมื่อไหร่ ยิ่งเห็นตัวอย่างจากพี่ๆหลายๆคนแล้ว ต้องมาลุ้นกันตอนสัปดาห์สุดท้าย เห็นแล้วเสียวครับ

พูดถึงคำว่า “ไม่มีเวลา” ทำให้ผมหวนนึกไปถึงตอนเรียนมัธยม มีอาจารย์ผมคนนึง แกบอกว่า ไอ้คนที่พูดว่าไม่มีเวลาน่ะคือคนโกหก โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าไม่มีเวลาจริง แล้วมานั่งบ่นได้ไงว่าไม่มีเวลา แสดงว่าเวลาน่ะมี แต่ดันเอาเวลาที่มีมานั่งบ่น” แกบอกอย่างนี้ ผมก็แย้งอาจารย์อยู่ในใจ ว่า ไอ้ที่เค้าบ่นน่ะ หมายถึงไม่มีเวลาที่มากพอที่ทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จได้ต่างหากล่ะ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าแกมีส่งสัญญาณอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร ยังไงหรือปล่าว ฟังตอนแรกก็งงๆ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่??????


พูดถึง blog ผมก็ยังไม่ได้แนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้มาใหม่ ผมขอยกยอดไว้คราวหน้าละกัน(แหะๆ) แต่ที่ผมมาเปิด blog ไว้ ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ โดยประการแรก เห็นรุ่นพี่ผมเปิด blog แล้ว มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในชุมชน blogger ซึ่งก็น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผม (แหะๆ) ประการต่อมา โดยกมล(สันดาน)แล้ว ผมเป็นคนขี้บ่นอย่างแรง แต่ส่วนใหญ่จะบ่นในใจ เพราะบ่นไปก็ไม่มีใครฟัง เลยเอาเรื่องที่อยากบ่นมาลงในนี้แทน(อย่าพึ่งเบื่อนะครับ) ประการที่สำคัญที่สุดคือ ตอนนี้ผมกำลังจะเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ แต่ผมมีข้อบกพร่องที่ร้ายแรงมากสำหรับการเขียนหนังสือ คือผมจัดระบบความคิดในหัวตัวเองไม่ได้ คือคิดได้แต่เรียบเรียงให้เป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ เลยคิดว่ามาซ้อมมือโดยการเขียน blog ถ้าจะดี แต่ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นหรือเปล่า เพราะพอจะเขียนอะไรให้มันเป็นเรื่องเป็นราวซะหน่อยก็ไม่รู้ว่าบรรดาเซลล์สมองผมแอบโดดงานไปหลบอยู่ที่ไหนกันหมด ไม่ยอมมาช่วยกันคิดทำมาหากินซะบ้าง

ว่าถึงเรื่องบอลอังกฤษซะหน่อย ข่าวที่กำลังฮือฮามากที่สุดตอนนี้คงไม่พ้นการย้ายทีมของ Owen มา Newcastle ของผม เรื่องนี้ พี่นิติรัฐ บอกทำใจไม่ได้ ไม่อยากเห็นโอเว่นลงเล่นให้ทีมอื่นเตะกับลิเวอร์พูล แต่ก็ต้องทำใจครับของอย่างนี้ เค้าเตะบอลเป็นอาชีพ และผมคิดว่า ถ้าโอเวนในเสื้อลายบาร์โค้ดของนิว เตะกับลิเวอร์พูล เค้าจะตั้งใจเล่นเป็นพิเศษ เพื่อพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของตัวเอง ดังนั้นหากนิวชนะโดยโอเวนยิงประตูชัยก็อย่าว่ากันนะครับ 5555

จริงๆผมว่า ไอ้หนวดซูเนส (ตอนนี้โกนหนวดแล้ว) มันแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ปัญหาของนิวไม่ใช่อยู่ที่เชียร์เรอร์แก่เกินไปอย่างเดียว ปัญหามันอยู่ที่การขาดซึ่งจินตนาการในการทำการบุกอย่างสิ้นเชิงของทีม กองกลางทำเกมไม่ได้ ต่อให้กองหน้าคมแค่ไหน ถ้าไม่มีคนจ่ายบอลให้ ก็จบข่าว และถ้าลองดูชื่อชั้นตัวผู้เล่นกองกลางของนิว ไม่ว่าจะเป็นดายเออร์ ,โบวเยอร์ ,เอ็มเร่, ปาร์กเกอร์, จีนาส(ย้ายไปสเปอร์แล้ว), มิลเนอร์ จะเห็นว่าไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด ซึ่งสรุปได้อย่างเดียวว่าคนคุมทีมห่วย ดังนั้นตำแหน่ง ที่นิวคาสเซิล ต้องการด่วนที่สุด คือ ผู้จัดการทีม ครับ และถ้านายหนวดจะเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ควรรีบลาออกไปแล้วเปิดโอกาสให้คนอี่นมาทำทีมแทนดีกว่า ผมทนดูไอ้หนวดทำทีมมาปีนึงเต็มๆ เริ่มจะทนไม่ไหว


แต่จะว่าไปไอ้หนวดก็ซื้อตัวผู้เล่นได้เก่งไม่เลว ดูแต่ละตัวที่มันซื้อมา สก็อต ปาร์กเกอร์ , เอ็มเร่ เบโลโซกลู (ถ้ายังจำฟุตบอลโลกฉบับเอเชียได้ หมอนี่เป็นตัวทำเกมคนสำคัญช่วยให้ตุรกีคว้าอันดับ 3 ในบอลโลกได้) ,เครก มัวร์ (กัปตันทีมชาติออสเตรเลีย) , อัลเบิร์ต ลูเก้ , และล่าสุด โอเวน กับโซลาน่า (เด็กเก่านิว) และก็เกือบได้ ฟรานเชสโก้ โคโค่ แบ็กซ้ายดาวรุ่งของอิตาลีเมื่อ 4-5 ปีก่อน ดังนั้นผมว่าตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดของซูเนสคือผู้อำนวยการฟุตบอลครับ ตำแหน่งเดียวกับที่เชลซี ไปแย่งคนของสเปอร์มา (ผมจำชื่อไม่ได้) เค้าน่าจะทำได้ดี


สำหรับแฟนนิว ณ เวลานี้คงไม่มีใครลุ้นแชมป์ แล้วละครับ อย่างแรกที่ลุ้นก่อนคือเมื่อไหร่ไอ้หนวดมันจะออกไปซะที และผมก็หวังว่า ซูเนส คงจะสำนึกได้ในเร็ววันนี้ ผมไม่อยากไปลุ้นหนีตกชั้นตอนปลายฤดูกาล...........

Thursday, August 18, 2005

บริการใหม่จากตำรวจไทย

ผมเชื่อว่าทุกๆคนคงเคยดูหนังประเภทโจรปล้นธนาคาร ในขณะที่โจรกำลังถือปืนขู่คนที่อยู่ในธนาคารนั้น (กรุณานึกภาพตามนะครับ ) นอกจากพระเอกแล้วจะมีคนๆนึงที่ทำตัวตุกติกมีพิรุธ ในสายตาของโจร นั่นคือผู้จัดการธนาคารซึ่งจะเป็นคนกดปุ่มๆนึง ซึ่งไอ้เจ้าปุ่มเนี้ย กดแล้วตำรวจจะแห่กันมาครับ ผมเรียกสั้นๆว่า “ปุ่มฉุกเฉิน” (ไม่ใช่พรก.ฉุกเฉินนะครับ)


ในประเทศไทยของเราก็มีบริษัทเอกชนรายนึงรับติดปุ่มฉุกเฉินให้กับพวกธนาคาร ร้านทอง หรือตามบ้านเรือนประชาชนทั้งหลาย หากมีโจรมาปล้น ก็กดปุ่มฉุกเฉินที่ว่า แล้วมันจะต่อสายตรงไปยังตำรวจท้องที่ให้เข้าช่วยดูแลความปลอดภัยให้ โดยบริษัทนั้นก็เก็บตังค์จากพวกธนาคาร ร้านทอง เป็นค่าต่อสายตรงถึงตำรวจเป็นรายเดือน แต่ผลปรากฏว่า ในปี 2544 มีสัญญาณเตือนภัยที่เกิดจากเจ้าปุ่มฉุกเฉินทั้งสิ้น 421 ครั้ง แต่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายจริงเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทำให้ตำรวจผู้มีหน้าที่รักษาความสงบต้องเดือนร้อน เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือเซ็งครับ อุตสาห์ออกมาทั้งที่แทนที่จะจับโจรได้ผลงาน แต่ดันกลับบ้านมือเปล่า


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)จึงได้ส่งเรื่องไปขอความเห็นจากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล(คณะกรรมการกฤษฎีกา)ว่าสตช.จะทำได้หรือไม่ หากจะทำสัญญากับบริษัทเจ้าของปุ่มเรียกเก็บเงินค่าบริการจากบริษัทดังกล่าว เพราะเป็นต้นเหตุทำให้ตำรวจต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และเสียอารมณ์ ในกรณีที่มีการกดปุ่มฉุกเฉิน แต่ไม่เจอโจรให้จับ ซึ่งก็น่าจะยุติธรรมดี เพราะตำรวจจะได้รางวัลปลอบใจกลับบ้าน เวลาไปตรวจตามสัญญาณเตือนภัยของปุ่มฉุกเฉินแต่ไม่เจอโจรให้จับ แต่เดี๋ยวก่อน สมมุติว่าผมเป็นเจ้าของบริษัทปุ่มฉุกเฉิน ,แน่นอนที่สุด, ผมจะไปเรียกเก็บค่าบริการนี้จากผู้ใช้บริการปุ่มที่ว่าทั้งหลาย ซึ่งก็คือประชาชนผู้เสียภาษีให้แก่รัฐ เท่ากับว่าประชาชนต้องเสียเงินให้ตำรวจสองเด้ง คือนอกจากจะเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นเงินเดือนให้กับตำรวจแล้ว ยังต้องมาเสียเงินจ้างตำรวจที่มีหน้าที่จับโจรอยู่แล้วให้มาจับโจรซ้ำอีก


แต่เดชะบุญครับ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไม่เล่นด้วยครับ โดยนำกฎหมายตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 บอกว่า “ตำรวจมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร” ดังนั้นการไปตรวจสอบที่เกิดเหตุที่ได้รับการเตือนจากปุ่มฉุกเฉินนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นจริงกตาม ก็ต้องถือว่าอยู่ในภารกิจและอำนาจหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว ตำรวจจึงไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บหรือทำสัญญาเรียกเก็บค่าบริการจากใครทั้งสิ้น


ทุกอย่างจบด้วยดีครับ นอกจากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลจะได้ช่วยประชาชนไว้แล้ว ผมว่ายัง “อาจจะ” ช่วยพี่น้องตำรวจไทยทุกคนด้วยครับ ช่วยยังไงน่ะหรือครับ อธิบายง่ายๆว่า หากมีคนเสนอเงินหรือให้เงินแก่ข้าราชการเพื่อให้ทำงานตามหน้าที่ของตน ข้าราชการที่รับเงินนั้นมีความผิดในข้อหา “เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน” เพราะทำงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ได้ทำงานเพราะมันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนั้นหากตำรวจคนใดรับเงินค่าบริการมาถือว่ามีความผิดครับ เพราะทำงานตามหน้าที่โดยเห็นแก่ทรัพย์สิน และพอเอาเงินกลับโรงพักเพื่อนตำรวจด้วยกันไม่เข้าจับกุม เพื่อนตำรวจนายนั้นก็มีความผิดฐาน “เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ด้วย เรียกว่าซวยทั้งโรงพักครับงานนี้?????