-1-
ความทั่วไป
รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือนิติบุคคลมหาชนกลุ่มนึง และนิติบุคคลเอกชนกลุ่มนึง
กลุ่มที่เป็นนิติบุคคลมหาชนจะเป็นพวกที่จัดตั้งโดยกฎหมายเช่น พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน หรือพระราชกฤษฎีกาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น กลุ่มนี้โดยหลักแล้วจะมีอำนาจรัฐและสิทธิพิเศษจากรัฐต่างๆอยู่ในมือไม่มากก็น้อย เช่นอำนาจในการปักเสาไฟฟ้าในที่ดินเอกชน อำนาจพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชน อำนาจในการตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตมาระเกะระกะสายไฟฟ้า หรือสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของราชพัสดุ
ส่วนกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลเอกชน พวกนี้จะจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป มีทุนจดทะเบียน มีหุ้น มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.การบินไทย พวกนี้โดยหลักแล้วจะไม่มีอำนาจมหาชนในกับบังคับเอากับเอกชนทั่วไปเหมือนกลุ่มแรก และการดำเนินงาน จะเป็นเหมือนบริษัทเอกชน
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจความหมายที่ใช้กันปัจจุบันคือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถืออยู่ให้แก่เอกชนจนรัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (ดังนั้นการขายหุ้นในรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจึงยังไม่ใช่การแปรรูปตามนัยทางกฎหมาย) แต่เพื่อความสะดวก ผมขอเรียกกระบวนการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่า “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ”
ปัญหาประการแรกสุดคือรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกไม่มีทุนจดทะเบียน ไม่มีหุ้น ดังนั้นในการขายจึงไม่สามารถขายได้ทันทีเหมือนรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการนำเอารัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมาเข้ากระบวนการแปลงสภาพให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเสียก่อนจึงจะสามารถขายหุ้นให้เอกชนได้ แต่ไปๆมาๆ กลับมีการใช้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจไปแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งกระบวนการ จึงทำผลเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
-2-
มูลเหตุของการแปรรูป
ตามกฎธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป ต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีผลตามมา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เช่นกัน เหตุของการแปรรูปผมสรุปออกมาได้ดังนี้
ประการแรก ความล้มเหลวในการดำเนินงานภายในของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดกับ กฎ ระเบียบทางราชการ ทั้งๆที่ความจริงแล้วองค์การของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎ ระเบียบอันหยุมหยิมของราชการ เพื่อให้มีความคล่องตัวเหมือนการดำเนินงานของเอกชน แต่เอาเข้าจริงๆกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐต่างกัน มากกว่า 2 แห่งขึ้นไป ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีกฎ ระเบียบเป็นของตนเอง เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ ฯลฯ จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องเปิดดูระเบียบก่อนถึงจะทำได้
ประการที่สอง ความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างธนาคารออมสิน เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มแรก จัดตั้งโดย พรบ.ธนาคารออมสิน อยากจะทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ทำไม่ได้ เนื่องจาก พรบ.ออมสินไม่ได้ให้มีอำนาจทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ถ้าจะทำต้องไปแก้กฎหมาย โดยทำเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ต้องผ่านสภาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าจะได้ฤกษ์ แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง จะทำธุรกิจประกันชีวิต ทำได้เลยครับ ไม่ต้องแก้กฎหมายด้วย อย่างมากก็แก้หนังสือรับรองบริษัท โดยไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่เกิน 2 เดือนก็เสร็จ ดังที่เห็นธนาคารกรุงไทยจับมือกับกลุ่มบริษัทแอ็กซ่าจากฝรั่งเศส ทำธุรกิจประกันในนาม “กรุงไทยแอ็กซ่า”
ประการที่สาม การขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปอุ้มรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ปีๆนึงเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปค้ำประกันให้ ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีเงินจ่ายรัฐก็ต้องจ่ายแทน
ประการที่สี่ กระแสทุนนิยมเสรีที่ประเทศไทยไม่อาจต้านทานไว้ได้ ยังไงๆซักวันนึงก็ต้องเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจ และหากให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันนี้ ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติแล้วไซร้ คงไม่ต้องบอกว่านะครับว่าผลจะเป็นอย่างไร
ประการที่ห้า หลักการเสรีนิยมบอกว่า การแข่งขันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากแปรรูปออกไปเพื่อให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ จะทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเกิดการตื่นตัว ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตน ผลที่ตามมาคือประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นมูลเหตุหลักในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยังไม่รวมมูลเหตุรอง เช่นข้อผูกพันที่ไทยเราทำไว้กับองค์การโลกบาล เช่น IMF หรือแปรรูปเพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนทำอย่างอื่น หรือเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้น
ดังนั้นถ้าจะเหมารวมว่าการแปรรูปคือความชั่วร้าย คือการขายชาติไปซะทั้งหมดมันคงไม่ใช่ ที่มันจะชั่วร้าย ที่มันจะขายชาติอยู่ที่กระบวนการแปรรูปไม่ใช่แนวคิดการแปรรูป
-3-
กระบวนการแปรรูปที่ควรจะเป็น
ขั้นตอนแรกสุด การเลือกทางเดินของรัฐวิสาหกิจว่าเลือกว่ากิจการใดที่รัฐควรจะทำต่อไป ถ้าจะทำต่อจะทำในรูปแบบใด จะเป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกหรือกลุ่มที่สอง กิจการใดรัฐควรจะขายทิ้งไปเลย ไม่ควรอุ้มอีกต่อไปแล้ว
เช่น กิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา รัฐควรดำเนินการต่อไป แต่หากให้เป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกอาจมีปัญหาด้านการดำเนินงานจึงควรแปรสภาพให้เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สองเสียก่อนน่าจะเหมาะสม แต่รัฐจะต้องมีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงาน ควบคุมราคาได้ ซึ่งการเลือกเส้นทางเดินควรจะเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชนในการตัดสินใจ
ขั้นตอนที่สอง เมื่อเลือกกิจการที่จะแปรรูปได้แล้ว ก็ต้องเข้ากระบวนการแยกส่วนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องแยกเอาลักษณะพิเศษ 3 ประการออกมา
ลักษณะพิเศษประการแรก ดังที่ผมได้กล่าวไว้ตอนต้น ว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรก ที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมีอำนาจรัฐที่จะบังคับเอากับเอกชนได้ หากแปรสภาพเป็นนิติบุคคลเอกชนแล้วจะต้องไม่มีอำนาจมหาชนหลงเหลืออยู่ในกิจการที่แปรสภาพออกมา เช่น การไฟฟ้า มีอำนาจปักเสา พาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินเอกชน หรืออำนาจในการเวนคืนที่ดินเป็นต้น
ลักษณะพิเศษประการที่สอง รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรกบางแห่ง มีลักษณะผูกขาดตามธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงการผูกขาดที่เกิดจากสภาพของรัฐวิสาหกิจ เช่นในกิจการไฟฟ้า เอกชนก็สามารถผลิตไฟฟ้าแข่งกับการไฟฟ้าได้ แต่การจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปส่งให้ถึงประชาชน ต้องอาศัยเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าเท่านั้น เพราะหากจะตั้งเสาไฟฟ้าขึ้นใหม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากยังงัยๆก็ไม่คุ้ม หรือแม้หากมีเงิน มากมายล้นฟ้าก็ตั้งเสาไฟฟ้าไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการตั้งเสาไฟฟ้า หรือพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชนอื่น จึงทำให้การไฟฟ้าเป็นผู้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าไปโดยปริยาย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นการแปรสภาพออกไปคงไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะไม่เกิดการแข่งขัน
ลักษณะพิเศษประการที่สาม ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุของรัฐ หรือใช้ที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินอยู่ หากจะแปรสภาพออกไปต้องให้แบ่งให้ชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นของรัฐวิสาหกิจ ส่วนไหนเป็นของแผ่นดิน ยกตัวอย่างการไฟฟ้าอีกนั่นแหละครับ การไฟฟ้าใช้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เขื่อนต้องเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น เพราะเขื่อนไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตประแสไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้นยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งอีก
ขั้นตอนที่สาม หากมีคำถามว่าเมื่อแยกลักษณะพิเศษของรัฐวิสาหกิจกิจแล้ว จะเอาไปไว้ที่ไหน จึงมีการเอาไปฝากไว้กับองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าองค์กรกำกับดูแลอิสระรายสาขา ซึ่งองค์กรพวกนี้นอกจากจะทำหน้าที่ถืออำนาจรัฐ ถือทรัพย์สินของรัฐ (เพื่อเอกชนรายใดต้องการใช้อำนาจดังกล่าวก็ต้องมาขออนุญาตกับองค์กรนี้) ยังทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อบริษัทที่ประกอบกิจการด้วยกัน และกับรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปด้วย และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย รวมไปถึงสามารถควบคุมราคาได้ด้วย
ขั้นตอนที่สี่ ตีราคารัฐวิสาหกิจ โดยดูมูลค่าทรัพย์สิน ผลประกอบการ กิจการที่ทำ แนวโน้มของผลประกอบการ และอื่นๆ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเค้าคิดกันยังงัย แต่เรื่องนี้มีผลกับส่วนได้เสียของผลประโยชน์ประเทศชาติ เช่น สมมุติตีราคาหุ้นการไฟฟ้า หุ้นละ 32 บาท แต่พอขายจริงราคากลับถีบไปถึง 100-200 บาท ซึ่งหากความแตกต่างของราคาดังกล่าว เป็นจำนวนหลักหน่วยคงพอยอมรับกันได้ แต่หากราคาต่างกันมากดังที่ยกตัวอย่างรัฐเสียประโยชน์เต็มนะครับ หากจะยังพอจำกันได้กับหุ้น ปตท. ที่ราคาเสนอขายกับราคาที่ซื้อขายจริงต่างกันลิบลับ ดังนั้นการตีราคาหุ้นจึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนนึง เคยมีผู้เสนอว่า ควรจ้างบริษัทเอกชน 5 บริษัท วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้บริษัทใดบริษัทเดียวกุมอำนาจตีราคา ซึ่งอาจเกิดการบิดเบือนราคาได้ โดยตัดราคาที่สูงสุด กับต่ำสุดออกไป แล้วพิจารณาราคาที่เหลืออยู่จะได้ราคาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด
ขั้นตอนที่ห้า กำหนดให้หุ้นที่รัฐถือเป็นหุ้นพิเศษที่เรียกว่าหุ้นทอง(Golden share) หุ้นทองนี้เป็นหุ้นที่ใครถือคนนั้นมีอำนาจบริหารในกิจการ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีอำนาจยับยั้งการบริหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประชาชน ที่เรียกว่าอำนาจ veto โดยหุ้นทองดังกล่าวรัฐไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้นแม้ว่าใครจะถือหุ้นมากเท่าไหร่ แต่ถ้ารัฐถือหุ้นทองซะอย่างก็ยังมีอำนาจในการบริหารกิจการได้ 555
หากทำได้ตามขั้นตอนที่ผมว่ามาเราจะได้รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเหมือนบริษัทเอกชน ที่รัฐสามารถควบคุมการบริหารงานได้ มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับเอกชนอื่น และจะมีองค์กรกำกับดูแลรายสาขาทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน รวมถึงควบคุมราคาให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
-4-
แสงสว่างอันริบหรี่จากศาลปกครอง
หากพิจารณาดูกระบวนการที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เทียบกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าการแปรรูปการไฟฟ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น โดยกระบวนการที่ผมยกมาจากผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการทั้งหลาย ที่รัฐนั่นแหละเป็นคนจ้างให้นักวิชาการไปทำวิจัย โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว แต่วิจัยเสร็จกลับเก็บขึ้นหิ้งซะงั้น ไม่รู้จะจ้างวิจัยทำไมให้เปลืองภาษีประชาชน
ซึ่งบทสรุปของผลงานวิจัยดังกล่าว เสนอให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วตรากฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่เนื่องจาก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้เพื่อแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน เป็นนิติบุคคลเอกชน เท่านั้น ไม่ครบกระบวนการทั้งหมดของการแปรรูปที่แท้จริง และมีจุดอ่อน ช่องว่างมากมายที่สามารถให้กลุ่มทุนทั้งชาติเดียวกัน และต่างชาติเข้ามาแบ่งเค้กรัฐวิสาหกิจกินกันอย่างเอร็ดอร่อย โดยที่เจ้าของเค้กอย่างเราๆท่านๆ ได้แต่ยืนมองกันตาปริบๆ
ดังนั้น การคัดค้านการแปรรูปที่ควรจะเป็นคือการให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ โดยอาจจะเข้าชื่อ ห้าหมื่นรายชื่อ เสนอร่างกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าสภา หรือหากไม่ต้องการให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆเลย ก็เข้าชื่อเสนอ พรบ.ยกเลิกพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจก็ได้ การคัดค้านการแปรรูปโดยการยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ มีผลเพียงการชะลอการขายหุ้นการไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกการแปรรูปไปเลย
การยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า กับพรฎ.เงื่อนเวลายกเลิก พรบ.การไฟฟ้า แม้โอกาสในการชนะคดีจะมืดมน แต่ ด้วยความเคารพต่อศาลปกครอง ตามความเห็นส่วนตัวของผมก็ไม่ใช่ว่าจะปิดประตูแพ้เสียทีเดียว ยังมีแสงสว่างริบหรี่ๆให้พอมองเห็นทางบ้าง
พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ผมยังไม่ได้อ่านตัวเต็มของกฎหมายตัวนี้ แต่อนุมานว่าคงจะเหมือนกับตอนแปรรูปองค์การโทรศัพท์ เนื้อหาคงเป็นให้ บมจ.การไฟฟ้ามีอำนาจปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินบุคคลอื่น หรือมีอำนาจตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตระเกะระกะสายไฟฟ้า ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ มาตรา 26 ออกกฎหมายฉบับนี้มา ดูเผินอาจจะไม่เห็นประเด็นเพราะทำถูกต้องตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ดังกล่าว
แต่ ประมาณปลายปี 2546 ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานราชการ ใช้บริการโทรศัพท์จาก บมจ.ทศท. คอร์ปอร์เรชั่น(องค์การโทรศัพท์หลังแปรรูป) ก่อน หาก ทศท.ให้บริการไม่ได้ค่อยพิจารณาบริษัทอื่น คำสั่งศาลปกครองฉบับนี้มีนัยยะสำคัญว่า การที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่ บมจ.ทศท. ซึ่งนิติบุคคลเอกชน มากกว่า นิติบุคคลเอกชนอื่นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักความเสมอภาค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากเทียบในกรณีของ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นการให้สิทธิพิเศษกับนิติบุคคลเอกชนเช่นกัน ก็น่าจะขัดกับหลักความเสมอภาคดุจเดียวกัน
พรฎ.ยกเลิก พรบ.การไฟฟ้า กฎหมายตัวนี้จริงๆ แล้วขัดกับหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน ที่ให้กฎหมายลำดับต่ำกว่าคือพระราชกฤษฎีกา ไปยกเลิกกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าคือพระราชบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยตัดสินไว้แล้วว่า กรณีไม่ขัดกับลำดับศักดิ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ยกเลิก พรบ.จริงๆแล้วคือพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พรฎ.เป็นเพียงกำหนดเงื่อนเวลาเท่านั้น เช่นกันครับมองเผินๆ อาจจะดูว่ากรณีนี้ปิดประตูชนะอีกกรณีนึง เพราะประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินมาแล้ว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร
แต่เดี๋ยวก่อนครับท่านผู้อ่าน ผมมีข้อสังเกตดังนี้
ประการแรก แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยตัดสินในกรณีดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการตัดสินในประเด็นที่ว่า พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจขัดรัฐธรรมนูญครับ ไม่ใช่เรื่องพรฎ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
ประการที่สอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรก็แต่เรื่องหรือประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เท่านั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่บ่อเกิดแห่งกฎหมาย หรือไม่ใช่ตัวบทกฎหมายที่ศาลปกครองจะต้องหยิบยกขึ้นมาใช้ในการตัดสินคดี ดังนั้หากศาลปกครองจะยกหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมายกเลิก พรฎ.ตัวนี้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
ประการที่สาม อันนี้ขาดเหตุผลทางกฎหมายอย่างสิ้นเชิงครับ แต่ศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินขัดแย้งกัน(ผมเรียกว่างัดข้อกัน) ในเรื่องอำนาจศาลในการควบคุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วศาลปกครองจะเห็นด้วยไปซะหมดนะครับ
ดังนั้นหากฝ่ายคัดค้านชนะคดี ผมว่าน่าจะเป็นการจุดประกายไฟการทบทวนการแปรรูปรัฐวิสหากิจ ให้เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เพราะการแปรรูปตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับนี้เสมอ รัฐจะต้องออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น
6 comments:
เขียนดีเลยโต เห็นภาพเข้าใจอะไรได้อีกเยอะสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารวงในโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างพี่
เอ...ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ไม่น่าจะไม่รู้เรื่องรู้ราวเนอะ งานวิจัยก็ออกมาก คนที่รู้เรื่องก็ออกเยอะ
ไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้วะ
ไม่รู้อะไรบังตา ปิดหู
เขียนได้ดีจังเลยครับ
เติมสมองผมได้ดีเหลือเกิน ถ้าไม่ได้อ่าน blog นี้ก็คงไม่รู้ต่อไปว่าไอ้การแปรรูปที่พูดๆกันอยู่เนี่ยมันไม่ใช่กระบวรการแปรรูปที่สมบูรณ์หากแต่เป็นแค่เรื่องของการถ่ายโอนซื้อขายห้นกันเท่านั้นเอง แต่มาเปลี่ยนการใช้คำตอนนี้คงไม่ทันแล้วล่ะครับผมก็คงอนุโลมตัวเองเรียกมันว่า "การแปรรูป" ไปก่อนละกัน 55
อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของนี่แหละครับสำคุญยิ่ง ถ้าหากกฏหมายยังมีช่องโหว่มากมายนี่ผมว่ามันก็ควรระงับไปก่อน เรื่องใหญ่แบบนี้ต้องคิดกันให้หนักครับ ถ้าเราไม่มีระเบียบกฏเกณฑ์อะไรเลยนี่ลำบากครับ ไม่ใช่สักแต่ว่าเออ ออ แปรรูปไปโดยอ้างความมีประสิทธิภาพ โดยที่จริงแล้วมันจะมีประสิทธิภาพยังไงเมื่อแม่งเป็น natural monopoly อยู่แล้ว การแปรรูปมันคงจะก่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันหรอกนะ โอเคในแงประสิทธิภาพด้านการระดมเงินทุนอาจจะทำได้คลาองตัวขึ้น แต่ผมเชื่อเลยว่าประสิทธิภาพที่ได้มาจากการแข่งขันนี่เชิญงมหาไปเหอะ มันจะมีได้ยังไง มันก็เป็นแค่ข้ออ้างข้างๆคูๆ
การที่สักแต่ว่าแปรรูโดยไม่ดูซ้ายดูขวาให้ดีๆนี่ผมว่าอันตรายครับ ไม่ใช่แปรรูปโดยมีรูโหว่มากมายให้กลุ่มทุนเข้ามารุม ขย้ำ ย่ำยี ให้มันเป็นไปตามตรรกะของทันไป สุดท้ายแล้วมันก็ไม่พ้นถูกการครอบงำโดยทุนไป
ทุนไม่เคยปราณีใคร.....
ป.ล.
ตอนนี้ผมติดใจ blog ของหลายๆท่านที่อยู่สายกฏหมายซะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณเมฆาคลั่ง คุณนิติรัฐ คุณPol_US หรือคุณ Tanusz ใน blog นี้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วผมมีความรู้เรื่องกฏหมายน้อยมาก (ถึงน้อยที่สุด)แต่ก็ได้ blog ของท่านที่กล่าวมา(และไม่ได้กล่าว)ช่วยเติมสมองให้เป็นระยะ
เขียนมาอีกนะท่าน ข้าพเจ้าจะรออ่าน
เก่งว่ะ ชื่นชมๆ
เอาอีกนะ อยากอ่านอีก
จะได้เพิ่มรอยหยักที่มีอันน้อยนิด
ขอบคุณทุกคนครับ
แต่ตอนนี้ net ที่บ้านผมเจ๊ง
กำลังหาสาเหตุอยู่
เลยไม่ค่อยได้เข้ามาดู
หายเจ๊งเทื่อไรก็อัพบล็อกใหม่นะจ๊ะน้องโต พี่สาวคนสวยจะรออ่านอีกจ๊า
นั่นดินะ ...งานวิจัยนี้ ว่าจริง ทำมาตั้งหลายปีแล้ว รู้สึกน่าจะประมาณปี ๔๕ เพราะเคยอ่านงานวิจัยชิ้นนี้ ตอนเป็นร่างฯ ของผู้วิจัย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ โดยมี ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นผู้อ่าน (Reader) และวิจารณ์งานเขียนนี้
ผมไม่เคยรู้จัก หรือ เรียนกับท่าน ศ.ดร.อมรฯ แต่ท่านเป็นอาจารย์ ของอาจารย์ของกระผมฯ อาจารย์หลายท่าน จะชมเชยในความเก่งกล้าของท่านเสมอฯ แต่ต่อมา ผมเห็นท่านเต้น เรื่อง "พรรคทางเลือกที่สาม" การล้มล้างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็ไม่ค่อยสบายใจกับบทบาทของท่านเท่าไหร่ฯ บ้านเมือง ไม่ใช่ของทดลองหรอก มันต้องใช้เวลาพัฒนาการ
กลับมาเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทจัดทำบริการสาธารณะนี้ซะหน่อย แนวคิดของคณะวิจัยฯ ที่น้องโต เอามากล่าวถึง มาจากส่วนประเทศฝรั่งเศส (ถ้าจำไม่ผิดนะ หลายปีแล้วที่อ่านงานชิ้นนี้)ซึ่งว่าจริง ๆ ก็เขียนตามคำแนะนำของท่าน ศ.ดร.อมรฯ เป็นหลัก .... ก็เป็นแนวคิดหนึ่งในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
หากจะมองไปทางอื่น เช่น แนวคิดของอังกฤษ และอเมริกา แล้ว แนวคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ จะเน้นเรื่องทุนนิยมเสรี มากกว่า รัฐจะไม่เข้ามาจัดทำกิจการค้าแข่งประเภทนี้เลย ในอังกฤษ สมัยนายกหญิง เธทเช่อร์ จึงขายกิจการบริการสาธารณะทั้งหมดแก่เอกชนฯ
ส่วนในอเมริกานี้ มีระบบทุนนิยมเสรีอย่างเต็มที่ ไม่มีหน่วยงานของรัฐมาจัดทำบริการสาธารณะประเภทนี้เลย แต่ด้วยความที่สหรัฐฯ มีตลาดที่ใหญ่โตมาก ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถกุมบังเหียนหรือบังคับทิศทางเศรษฐกิจได้ ไฟฟ้า ปะปา ฯลฯ อยู่ในเงื้อมมือของเอกชนทั้งสิ้น แต่กฎหมายสหรัฐฯ จะเข้าไปคุ้มครองเอกชนในระดับที่น่าพึงพอใจ เช่น สัญญาการแจกจ่ายแก๊ส ซึ่งมีความสำคัญในหน้าหนาวมาก ๆ ไม่ใช่ว่า ผู้ให้บริการ จะงดให้บริการได้ตามใจ จะอ้างว่าขาดทุน ฯลฯ แล้วยกเลิกการให้บริการ ก็ทำไม่ได้ ฯ ศาลขยายเรื่อง Public Interests เข้าไปมีผลบังคังใช้และการตีความกฎหมาย Contract ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนโดยตรงด้วย
รัฐวิสาหกิจไทย มีปัญหามายาวนาน เรื่องประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน ประเภทประสิทธิภาพต่ำ ผลผลิตต่ำ จนถึงขาดทุน แต่พนักงานรวย มีโบนัส ฯลฯ เช่น ขสมก. คณะกรรมการ ขสมก. ได้เบี้ยประชุมครั้งละหลายพันบาท .... ต่อคนต่อครั้ง ... อันนี้ คือตัวอย่างเล็ก ๆ ในหลายตัวอย่าง การแปรรูปการบริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จำเป็น แต่จะเลือกรูปแบบใด คงจะต้องหาคำตอบกันต่อไป มิเช่นนั้น ปัญหาการไร้ประสิทธิภาพ ขาดทุน แต่ได้โบนัส และมีสิทธิประโยชน์สูงฯ ประชาชนทั่วไปเสียประโยชน์ ก็จะไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขเสียที แต่การแปรรูปเสรี ร้อยเปอร์เซ็นต์ คงจะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย เพราะระบบเศรษฐกิจไทย เล็กเกินไป และอำนาจเศรษฐกิจ อยู่ในเงื้อมมือของคนไม่มีกี่คนฯ
ปล. ขอบคุณท่าน Mr.GELGLOOG สำหรับคำชมนะครับ .... น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คนทั่วไปสนใจกฎหมายมากขึ้น แต่กฎหมายที่ดี คือ สิ่งที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และ มีประสิทธิผล (3Es) เพื่อนผม ที่จบจากสาขาอื่นมา เป็นนักธุรกิจ พอเรียนกฎหมายมาก ๆ ก็บ่นเลย .... กฎหมายทำให้เขา คิดอะไรได้ช้าลง ทำอะไรก็กลัวไปหมด ฯลฯ ...จะทำอย่างไรให้มันสมดุลนะครับ ระหว่างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประหยัดฯ กับ ถูกกฎหมายเนี่ย ยากจริง ๆ เพราะ จะอ้างแต่ ยังไม่ได้รับรายงาน ยังต้องรอการตีความ ฯลฯ ก็คงจะไม่ทันกาลแล้วอะครับ
ส่วน
Post a Comment