Tuesday, February 14, 2006

กฎหมายมหาชนภาคพิศดาร ตอนหลักความได้สัดส่วน ฉบับนักช็อป

หลังจากที่ผมได้ศึกษากฎหมายมหาชน จากสำนักท่าพระจันทร์ มาได้นานพอที่ทางคณะจะอัญเชิญผมออก โทษฐานใช้เวลานานเกินสมควร(จะขอต่อเวลาก็ไม่ให้) ทำให้ผมพบว่าหลักการทางกฎหมายมหาชน หลายๆหลักการสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายได้มากมายนัก (ซึ่งเข้าข่ายใกล้เพี้ยนเข้าไปทุกที) แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว (อุตส่าห์บ้าคิดได้ ก็บ้านำเสนอได้วะ) ผมจึงนำเสนอผลงานชิ้นแรก “หลักความได้สัดส่วน ฉบับนักช็อป” โปรดทัศนา

ตามสังคมวัตถุ-บริโภคนิยม หลายคนคงประสบปัญหากับการใช้จ่ายเงิน หรือปัญหาการบริหารกิเลสภายในใจ เพราะสมัยนี้เดินทางไปไหนมาไหนเห็นสินค้าวางขายมากมาย ไอ้นู่นก็อยากได้ ไอ้นี่ก็อยากมี ถ้ามีกำลังทรัพย์ก็จับจ่ายใช้สอยอย่างเมามัน ถึงสิ้นเดือนสำหรับคนใช้บัตรเครดิตเห็นบิลเรียกเก็บเงินเข้าคงลมจับ หรืออย่างตัวผมเองจะเห็นผลตอนกดเงินATMช่วงปลายๆเดือน ที่เงินเดือนของเดือนใหม่ยังไม่เข้าบัญชี ต้องพึ่ง มาม่าประทังชีวิตอยู่เป็นนิจ เข้าข่ายเที่ยวสนุกทุกข์ตอนจ่าย

แต่ท่านทั้งหลาย อย่าพึ่งอับจนหนทาง ผมมีหลักวิธีการช็อปปิ้งอย่างสนุกสนานโดยไม่ทุกข์ตอนจ่าย โดยประยุกต์เอากับหลักการกฎหมายมหาชนทางถนัดของผมมานำเสนอ เรียกว่า “หลักการช็อปปิ้งอย่างได้สัดส่วน” มีที่มาจาก “หลักความสัดส่วน” ในกฎหมายมหาชนนั่นเอง

-1-
จากหลักนิติรัฐซึ่งเป็นหลักการพี่ใหญ่ในกฎหมายมหาชน ที่จำกัดอำนาจรัฐให้อยู่ภายใต้กฎหมายนั้น มีหลักการย่อยๆต่างๆมากมาย และหลักการสำคัญหลักหนึ่งคือ “หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง” หลักการนี้กำหนดว่าฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆที่เป็นการลิดรอนสิทธิของปัจเจกบุคคล ต้องมีกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจไว้เสียก่อนจึงจะทำได้ หรืออาจจะเรียกว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” แต่ในทางความเป็นจริง ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถที่จะออกกฎหมายให้มีความครอบคลุมถึงทุกการกระทำของฝ่ายปกครองได้จึงทำได้เพียงออกกฎหมายกำหนดกรอบแห่งอำนาจ ให้ฝ่ายปกครองดำเนินการภายในกรอบที่กำหนด

แต่ถึงจะมีกฎหมายให้อำนาจแล้ว ฝ่ายปกครองก็หาอาจกระทำการได้ตามอำเภอใจไม่ ยังคงต้องเคารพหลักการทางกฎหมายอีกหลักการหนึ่งที่เรียกว่า “หลักความได้สัดส่วน” ซึ่งประกอบไปด้วย 3 หลักการย่อยดังต่อไปนี้
1. หลักสัมฤทธิ์ผล หลักการนี้บอกว่า ฝ่ายปกครองจะใช้มาตราการทางปกครองใด มาตราการนั้นต้องก่อให้เกิดผลดังที่ฝ่ายปกครองต้องการให้เกิด
2. หลักความจำเป็น หลักการเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองครีเอทมาตรการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อแรกมาหลายๆมาตรการ แล้วให้เลือกดูว่ามาตรการใดก่อให้เกิดผลกระทบสิทธิของปัจเจกบุคคลน้อยที่สุด มาตรการนั้นแหละเป็นมาตราการที่จำเป็น
3.หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ หลักการนี้เป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่การกระทำทางปกครองจะมีผลไปกระทบสิทธิของเอกชน ซึ่งหลักการนี้บอกว่า ให้ชั่งน้ำหนักระหว่าง ประโยชน์ที่ปัจเจกบุคคลต้องเสียไปกับประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับว่ามันได้สัดส่วนกันหรือป่าว คุ้มไหมที่จะต้องริดรอนสิทธิของคนๆหนึ่งเพื่อให้สาธารณะได้ประโยชน์

จากหลักการนำมาสู่วิธีการใช้ ก็ง่ายมาก
1.ดูวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองซะก่อน แล้วค่อย
2.กำหนดมาตราการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น
3. ดูว่าไม่มีมาตรการอื่นที่ดีกว่านี้ และ
4. พิจารณาว่าสิทธิของเอกชนที่จะเสียไปคุ้มหรือป่าว กับประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับ

-2-
หลายคนคงสงสัยแล้วที่ว่ามาทั้งหมดเกี่ยวอะไรกับการช็อปปิ้งวะ??? ถ้างั้นโปรดดูต่อครับ

หลักการช็อปปิ้งอย่างได้สัดส่วน

หลักการนี้เรียกร้องให้นักช็อปทั้งหลายสมมุติว่าตัวเองเป็นฝ่ายปกครอง กำลังจะลิดรอนเงินในกระเป๋าตนเอง ดังนั้นนักช็อปทั้งหลายพึงใช้อำนาจเงินด้วยความระมัดระวังเพราะมันจะทำให้ท่านทุกข์ในตอนหลัง

หลักข้อที่หนึ่งบอกว่า ท่านต้องตั้งวัตถุประสงค์ในการใช้เงินซะก่อนที่ท่านจะออกช็อปปิ้ง ว่าของสิ่งใดที่จะดึงดูดเงินออกจากกระเป๋าของท่านได้ ของสิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องซื้อ โดยให้ถือว่าของที่ท่านตั้งใจจะซื้อเป็นเสมือนกฎหมายที่อนุญาตให้ท่านใช้เงินได้ การซื้อสิ่งของโดยที่ท่านมิได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ล่วงหน้าถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ มิชอบด้วยกฎหมาย หากพบเห็นของที่อยากได้โดยบังเอิญ หลักการนี้บอกให้ท่านกลับไปทบทวน ตั้งเป็นวัตถุประสงค์ขึ้นใหม่ในใจ แล้วค่อยกลับมาซื้อใหม่ในการช็อปคราวหน้า

หลักข้อสองบอกว่า เมื่อไปเดินช็อปแล้ว ท่านต้องซื้อที่ท่านตั้งใจไว้เท่านั้น ถ้าของสิ่งใดที่ท่านไม่ได้ตั้งใจไว้กรุณาอย่าซื้อ ควรทำเพียงแค่ดู เก็บข้อมูลราคา สถานที่ขาย ไว้คราวหน้าค่อยมาซื้อ เช่นบางคนตั้งใจไปซื้อเสื้อ แต่กลับได้กลับมาครบชุดทั้งรองเท้า กางเกง อันนี้ถือว่าผิดหลักการ มิชอบด้วยกฎหมายนะครับ แต่ถ้าท่านอดใจไม่ไหวจริงๆ หรือมีการลดราคาสะบั้นหั่นแหลกประเภทลดทลายสต็อก หรือเป็นของที่บังเอิญตามหามานาน ประหนึ่งพานพบพี่น้องที่พลัดพรากมาตั้งแต่ยังเด็ก หรือมีเหตุอื่นใดที่มิอาจก้าวล่วงได้ หลักการนี้ยังคงเห็นใจท่านอยู่ อนุโลมให้ท่านใช้จ่ายเงินไปก่อนได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง (แหะๆ ข้อยกเว้นนี้ผมใช้บ่อย)


หลักข้อสาม นี่ต้องพิจารณาในเชิงลึก ซึ่งหลักการบอกว่า ของแต่ละอย่างก็มีหลายยี่ห้อ หลายราคา ซึ่งแต่ละยี่ห้อ หรือแต่ละราคาก็มีคุณสมบัติที่ต่างกันไป ฉะนั้นควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ายี่ห้อไหน ราคาใด ที่จะเหมาะกะกระเป๋าตังส์และวัตถุประสงค์ในการใช้ของตัวเองที่สุด เช่นเงินเดือน 8 พัน จะใส่เสื้อเวอร์ซาเช่ แม้ว่าเวอร์ซาเช่จะใส่สบายแต่ก็(อ่ะนะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านต้องใช้เสื้อตราห่านคู่เพียงยี่ห้อเดียวนะครับ) หรือท่านจะไปตีแบดออกกำลังกาย ท่านก็ควรเลือกซื้อไม้แบดอันที่เหมาะสมกับการใช้ออกกำลังกาย ไม่ใช่ซื้อไม้แบดอย่างดี ไม่มีขอบ ทำจากเหล็กที่ใช้ทำยานอวกาศ อันละ 5 พันก็ใช่ที่ ท่านไม่ได้ไปแข่งชิงแชมป์โลกนะครับ และอีกประการหนึ่งอย่าซื้อเผื่อครับ เอาที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น เมื่อพิจารณาดูหลายๆด้าน แล้วค่อยตัดสินใจเลือกซื้อ

หลักการสุดท้ายนี้สำคัญมากครับ เพราะเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่เงินจะไหลจากกระเป๋าของท่านไปสู่กระเป๋าของคนอื่น หลักการนี้เรียกร้องให้ท่านชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ท่านจะได้จากสิ่งของที่ท่านซื้อกับจำนวนเงินที่ท่านเสียไปว่ามันสัดส่วนกันหรือไม่ คุ้มค่ากับเงินที่ท่านจะต้องจ่ายหรือไม่ และประโยชน์ที่ว่าต้องไม่ใช่เพื่อสนองอารมณ์ชั่ววูบของตนเอง (ซึ่งผมเป็นบ่อยมาก) ดังนั้นเพื่อป้องกันอารมณ์แบบว่าเห็นแล้วต่อมกิเลสเกิดปฏิกริยาผลิตสารอยากได้ กระตุ้นให้เราอยากซื้อขึ้นมา ซึ่งพอซื้อมากลับรู้สึกงั้นๆอ่ะ ไม่ได้ใช้หรือไม่ก็ทิ้งหายไปไหนก็ไม่รู้ เสียดายเงิน ท่านอาจตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยเมื่อท่านเลือกของได้แล้ว ถือไว้ในมือจ้องมองมันสัก 10 วินาที แล้วหลับตา สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ประมาณ 3 ครั้ง ระหว่างสูดลมหายใจเข้าก็คิดไปด้วยว่า "ซื้อดีไม๊วะ" หากเสร็จแล้วท่านยังคงไม่เปลี่ยนใจ ก็เป็นอันผ่านฉลุยครับ

หลักการที่พล่ามมา เอ้ย พูดมาทั้งหมด ไม่ได้บอกให้ท่านตระหนี่ถี่เหนียวนะครับ เพียงแต่ให้ท่านใช้จ่ายเงินอย่างมีสติเท่านั้น หากเห็นว่าไม่มีประโยชน์ก็อ่านเอาขำขำนะครับ อย่าคิดมาก แต่ผมว่าลองนำไปใช้แล้วจะติดใจ 555

7 comments:

ratioscripta said...

ถ้าเจอเหตุการณ์อันจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ เช่น เจอของที่ถูกใจและคิดว่าชาตินี้อาจไม่ได้เจอมันอีกเลย หรือ เพื่อนลากออกไปรับทานสุรา แบบที่ขัดไม่ได้เพราะโอกาสที่จะเจอกันอีกอาจเป็น "ชาติหน้าตอนสายๆ"

หรือบังเอิญไปเหยียบไหกะปิใครเข้า อันนี้ต้องควักตังค์ชดใช้

แม้จะไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ อันนี้พี่ก็ว่าเป็นข้อยกเว้นของ หลักความได้สัดส่วน ฉบับท่านนักช้อป และน่าจะทำได้ตามวิธีงบประมาณ ฉบับท่านนักช้อปเช่นกัน

แต่...

อย่าลืมตั้งงบชดใช้ ในเดือนหน้าด้วยล่ะ เอาเงินในอนาคตมาใช้แล้วนี่หว่า

หนักนักก็ทำงบขาดดุล แล้วไปกู้พ่อกู้แม่มาก่อนแล้วกัน

ฮาๆๆๆๆ

Tanusz said...

อย่ากู้พ่อแม่เลยครับ เราคนทำงานหาเงินเองได้แล้ว
ถ้าจะกู้ต้องกู้ UN ครับ เพราะ UN ไม่ใช่พ่อ 5555

Unknown said...

เรื่องช้อปปิ้งนี่ .... หักห้ามใจลำบากจริง ๆ เจอของถูกใจ เป็นต้องคิดหนัก .... ตอนนี้ ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ออกไปดูมันให้ยั่วกิเลสเลยดีกว่า ... เพราะ ไปทีไร ก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือมาทุกที ทั้ง ๆ ที่ของใช้เดิม ก็ยังใช้การได้ดีอยู่ ...เฮ้อ....

Gelgloog said...

ผมว่าเราน่าจะคาดคำนวณและประเมินความเสี่ยงไว้บ้างก็ดีนะ เหอ เหอ

บางทีวางกรอบ ตีขอบซะเนียนเลย แต่พอถึงเวลาจริงๆ ดันเจอเหตุการณ์แบบไม่คาดฝัน แบบนี้มันก็ฮาร์ดเอาได้ง่ายๆเลยนะท่าน อิอิ

Tanusz said...

หุหุ ปกติผมก็ไม่ค่อยได้ใช้หลักการที่ว่าซักเท่าไหร่
ผมเป็นประเภทคนใจง่าย ชอบใช้ข้อยกเว้นเป็นหลักทั่วไป จึงเขียนตอนนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติตัวเอง เพราะผมกำลังจะลาออกจากงานมานับหนึ่งใหม่

Anonymous said...

ขอถามหน่อยครับว่าทำไมราคาสินค้าชนิดเดียวกันของแต่ละประเทศถึงไม่เท่ากันครับ

Anonymous said...

ท่านมองภาพของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศไทยในปัจจุบันอย่างไรครับ