Wednesday, November 09, 2005

ขายบุหรี่

เมื่อเช้านี้ระหว่างกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องจะออกไปทำงาน แว่วเสียงคุณสรยุทธ แห่งเรื่องเล่าเช้านี้ กำลังสัมภาษณ์บุคคลในข่าวเรื่องการห้ามวางจำหน่ายบุหรี่ในที่ด้านหลังเคาน์เตอร์ของร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค นายกสมาคมผู้ค้ายาสูบ และ CEO คนเก่งแห่ง 7-eleven แล้วบังเกิดความสนอกสนใจเพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผมเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมาเล่าข่าวคืนนี้กัน

เท้าถึงความหนหลังฟังได้ว่า กรมควบคุมโรคเกิดอยากจะบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ตามมาตรา 8 แห่ง พรบ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 (เอาตอนพุทธศักราช 2548 ซึ่งล่วงเลยเวลามาถึง 13 ปีนับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ)

มาตรา 8 ดังกล่าว ท่านว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของ
ผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ หรือใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการแสดง การแข่งขัน การให้บริการหรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์ให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ

แปลไทยเป็นไทยง่ายๆจะได้ความว่า “ห้ามโฆษณาบุหรี่” ซึ่งหากพิจารณาดูกันจริงๆ จะพบว่าไม่มีตอนใดของกฎหมายที่จะให้ตีความรวมไปถึงการวางขายบุหรี่ธรรมดาๆ แต่ที่นี่ประเทศไทย จ้าวแห่งการตีความ จึงได้นำคำนิยามของกฎหมายคือคำว่า “โฆษณา” ซึ่งหมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า มาประกอบกัน รวมแล้วเลยได้ความว่า การที่ร้านสะดวกซื้อวางขายบุหรี่นั้นถือเป็นการโฆษณา มีความผิด มีโทษปรับครับ

และด้วยความรอบคอบของฝ่ายราชการ กรมควบคุมโรคจึงส่งให้ฝ่ายกฎหมายของแผ่นดิน หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตีความ ทางฝ่ายกฎหมายก็เกรงว่าฝ่ายที่ส่งเรื่องมาจะเสียน้ำใจจึงตีความให้ว่า การจะถือว่าการวางขายบุหรี่เป็นการโฆษณาหรือไม่นั้นต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป และได้ยกตัวอย่างว่าการจะถือว่าเป็นการโฆษณาอันจะเป็นความผิด ก็เช่น วางซองบุหรี่เรียงติดๆกันให้สะดุดตาประชาชนที่เข้ามาซื้อของ หรือมีการซื้อพื้นที่ในการวางจำหน่ายของบริษัทบุหรี่ทั้งหลาย

ทั้งนี้ทั้งนั้นฝ่ายรัฐให้เหตุผลของการกระทำดังกล่าวว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดติดในตราหรือแบรนด์ของบุหรี่ อันอาจส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ในอนาคต และเพื่อลดการบริโภคบุหรี่ของประชาชน

ฟังเหตุผลผมรู้สึกทะแม่งทะแม่งยังไงชอบกล หากใช้หลักกฎหมายมหาชนเรื่องหลักความได้สัดส่วน ที่มีหลักเกณฑ์ว่า การกระทำของรัฐที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ต้องได้สัดส่วน ซึ่งไอ้หลักสัดส่วนที่ว่ามันใช้อย่างนี้ครับ คือดูการกระทำของรัฐแล้วตอบคำถาม 3 ข้อนี้ ว่าเป็นไปตามนี้แล้วหรือยัง
1. วิธีการกระทำนั้นต้องเป็นวิธีที่ทำแล้วได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่จะทำ
2.ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว
และ 3.ทำแล้วคุ้มค่ากับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เสียไป มาวิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้สัดส่วนกันเลย แค่ข้อแรกก็ตอบไม่ได้แล้วครับ

ผมตั้งคำถามเองตอบเอง ในฐานะสิงห์อมควันคนนึง ว่า

1.ถ้าเด็กไม่เห็นบุหรี่ในร้านสะดวกซื้อ เด็กจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลยหรือว่าซองบุหรี่หรือบุหรี่หน้าตาเป็นยังไง
-ผมตอบเลยว่าเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่บุหรี่ยังไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย

2. พวกสิงห์อมควันทั้งหลายไม่เห็นบุหรี่วางโชว์ไว้แล้วเค้าจะไม่สูบบุหรี่เลยหรือ
-ตอบเองอีกว่าไม่ใช่ ถ้าเค้าไม่เห็นเค้าจะถามว่ามีขายไหม ถ้าไม่มีจะไปซื้อร้านอื่นที่มี

3. ถ้าคนที่ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เห็นซองบุหรี่แล้วจะเกิดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาทันทีเลยหรือ
- ผมก็ตอบอีกว่า บุหรี่ไม่ใช่ขนมเค้กนะครับ ที่เห็นหน้าตาแล้วอยากกิน และจากประสบการณ์ถามบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยกันว่าเริ่มสูบบุหรี่ได้ยังไง ร้อยละ 99.99 จะตอบว่าสูบตามคนอื่น เห็นคนอื่นสูบเลยอยากสูบด้วย ทั้งเห็นจากเพื่อนด้วยกัน จากพ่อหรือญาติใกล้ชิด จากดาราหนัง จากการ์ตูน ไม่มีใครตอบผมว่าเห็นซองมันสวยดีเลยอยากสูบ และขอโทษเถอะครับ ซองบุหรี่สมัยนี้ ผมเห็นแล้วยังไม่อยากสูบเลยครับ นับประสาอะไรกับคนไม่เคยสูบบุหรี่

ผมเลยคิดว่ามันไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกที่ควรสำหรับเหตุผลของฝ่ายรัฐ หากถามผมเองว่าแล้วควรรณรงค์แบบไหนล่ะ ผมตอบเลยว่าผมกลัวพวกตัดกล่องเสียงที่สุดครับ พวกมีรูที่คอ จะพูดทีต้องใช้เครื่องช่วย เอาพวกนั้นมาโฆษณาทุกวันซิครับ ไม่แน่ว่าผมอาจจะเป็นคนแรกที่ยกมือของเลิกบุหรี่

มาดูทางฝั่งร้านสะดวกซื้อกันมั่ง ซึ่งเค้าก็ไม่ยอมซิครับ ใครจะยอมล่ะ ก็เค้าวางขายของเค้ามานมนานกาเล อยู่จะมาบอกว่าเป็นความผิดได้ยังไง ตัวแทนจากฝ่ายร้านสะดวกซื้อให้เหตุผลว่า การวางขายบุหรี่ ก็เหมือนกับวางขายขนมปังนั่นแหละ มีที่ว่างตรงไหนก็วางตรงนั้น ไม่เห็นจะเป็นการโฆษณาตรงไหนแต่ที่ต้องวางไว้หลังเคาน์เตอร์เพื่อให้สะดวกในการควบคุมการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 อุตสาห์สนอง นโยบายรัฐบาลแล้ว จะมาบอกว่าเค้าโฆษณาไม่ได้ ทาง CEO คนเก่งก็ให้เหตุผลว่า ถ้าไม่วางไว้ให้คนเห็นจะผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดให้ร้านค้าต้องวางสินค้าที่จะขายให้ประชาชนเห็น

ผมว่าเหตุผลของฝ่ายรัฐฟังไม่ค่อยจะขึ้นแล้วนะ มาฟังอีกฝ่าย นึกภาพออกเลยครับว่าสีข้างแดงแจ็ดแจ๊ ตรงมือมีร่องรอยการบาดเจ็บจากการกระทบกับของแข็ง

ถ้าจะควบคุมการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี น่ะ วางตรงไหนก็ได้ครับ เพราะสุดท้ายเค้าก็ต้องเอาบุหรี่มาจ่ายเงินอยู่ดี เว้นแต่ว่าเด็กคนนั้นจะขโมยบุหรี่ ซึ่งมางร้านไม่มีทางที่จะให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น

ถ้าบอกว่าไม่มีเจตนาจะโฆษณาแล้วทำไมต้องวางให้สะดุดตาขนาดนั้น สมมุติว่าผมจะเข้าไปซื้อของซักอย่างในร้าน เช่นผมจะซื้อขนมปัง ผมต้องมองหาก่อนว่าของมันวางอยู่แห่งหนตำบลใด แต่บุหรี่นี่ไม่ต้องมองก็เห็นครับ

ส่วนเหตุผลสุดท้ายฟังดูเข้าท่าสุด ถ้าไม่วางบุหรี่ให้คนเห็นจะผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้ผมเห็นว่ากม.ควบคุมบุหรี่เป็นกฎหมายเฉพาะ คือเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องเฉพาะราว กรณีนี้คือเรื่องการขายบุหรี่ ส่วนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายทั่วไป ตามหลักกฎหมายแล้ว มีกฎหมายเฉพาะต้องใช้กฎหมายเฉพาะก่อนกฎหมายทั่วไปครับ ดังนั้นเหตุผลนี้จึงตกไป

ซึ่งในประเด็นเรื่องเหตุผลนี้เมื่อเช้าคุณสรยุทธถามโดนใจผมมากเลย แกถามว่า คุณ(ร้านค้า)ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์หรือ เพราะกระแสมันแรงพอที่จะปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านร้าน 7-อีเลฟเว่น คุณก่อศักดิ์ CEO คนเก่ง ตอบว่าไม่กลัวเพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งผมเห็นว่าขัดกับหลักคนทำธุรกิจเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะตราสินค้าหรือแบรนด์นี่ผมว่าน่าจะมีความสำคัญมาก จนบางทีไม่อาจประเมินค่าได้ การสวนกระแส ทั้งที่ถ้าตามกระแสก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหายแต่ประการใด แต่เค้าไม่ทำ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่ามีอะไรเบื้องหลังหรือเปล่า เช่นมีการให้ผลประโยชน์จากบริษัทบุหรี่หรือเปล่าที่ให้วางขายตรงจุดนี้ เพราะว่าผมว่าการวางขายให้เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบถึงยอดขายตามเหตุผลของสิงห์อมควันที่ผมให้ไว้ข้างต้น

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งงงกับตัวผมว่าผมจะเอายังไงกันแน่ เดี๋ยวด่ารัฐ เดี๋ยวด่าเอกชน จุดยืนผมง่ายๆว่า กรณีนี้ผมเห็นว่ารัฐทำไม่ถูกตามหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น และไม่ส่งผลที่จะตอบสนองความต้องการของรัฐได้ เพราะสุดท้ายคนก็สูบบุหรี่เหมือนเดิม เด็กก็อยากลองสูบเหมือนเดิม แต่การกระทำของรัฐดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือกระแสการต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างกลายๆ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เห็นควรให้ทำต่อไป ส่วนทางฝั่งร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ผมไม่เห็นว่าการที่ไม่โชว์บุหรี่ แต่ขึ้นป้ายว่ามีขายบุหรี่จะทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงแต่อย่างใด ถ้าท่านทำสังคมจะสรรเสริญท่าน แต่ถ้าท่านยังยืนกรานไม่ทำ ผมว่าผลเสียจะตกอยู่กับท่านนะกรับ คิดดีๆ กรับ

7 comments:

Tanusz said...

ไอ้เรื่องการปิดร้านเหล้าตีหนึ่ง หรือไม่ขายเหล้าตอนกลางวันก็เหมือนกัน ผมว่ามันไม่ได้สัดส่วน

ควรใช้วิธีอื่นเช่นขึ้นภาษีจะดีกว่า
ผมจะได้กินเหล้าอย่างสบายใจ 555

Anonymous said...

เมื่อเช้าก็ฟังสรยุทธเหมือนกัน ถามโดนใจมั่กๆ..
แล้วก็ชื่นชอบ CEO ที่ตอบได้ชัดเจนในจุดยืน
เห็นด้วยว่ะ ถึงเอาบุหรี่มาวางล่อตาล่อใจเด็ก ก็ใช่ว่าเด็กเห็นซองแล้วอยากสูบ...แต่มันก็ดีนะ ถ้าไม่เอามาวางแล้วมันทำให้โอกาสที่จะซื้อบุหรี่มันน้อยลง..

sweetnefertari said...

ใครใคร่ค้า ค้า

ใครใคร่เสพ เสพ

ไม่ว่ากันหรอกนะ แต่ให้มันถูกกาลเทศะหน่อย ทั้งคนขายคนเสพ จะได้ไม่ถูกชาวบ้านเค้ารังเกียจ

เรื่องของคนขายนะก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ไอ้เรื่องคนเสพเนี่ย บางทีนะ ไปเดินสวนจตุจักร อากาศก็ร้อน แถมมีน้อย หายใจยังลำบาก แล้วดันมีไอ้บ้าที่ไหนไม่รุมาสูบบุหรี่ใกล้ๆเนี่ย โคตรอารมณ์เสีย

Anonymous said...

ขอเล่านอกเรื่องละกันน้อง... คือ สองสามสัปดาห์ก่อน มีอีเมลล์เตือนจาก College of Law ที่พี่เรียน โดยส่งให้นักเรียนทุกท่าน ..... ความสรุปว่า

พวกสูบบุหรี่เอ๋ย พวกเจ้าได้ทำลายทั้งอากาศบริสุทธิ์ และความสะอาดของอาคาร .... ทาง College of Law ขอความร่วมสิงห์อมควันทั้งหลาย ไปสูบบุหรี่ ไกล ๆ ตัวอาคาร และทิ้งก้นบุหรี่ ให้เป็นที่เป็นทางด้วย... อย่าทิ้งลงพื้นฯ

พี่ละนึกถึงเพื่อน ๆ ที่สูบบุหรี่เลย มันสูบบุหรี่เสร็จ มันก็ทิ้งลงพื้นถนน แล้วใช้ เท้าขยี้ให้ไฟดับ (บางคนก็ไม่ได้ทำวะ) ...สกปรกไปหมด ... ตอนเป็นนักเรียนนายร้อยฯ ยิ่งไปกันใหญ่ ได้พวกสิงห์อมควัน ก็ทิ้งก้นบุหรี่ เล่นทำให้เพื่อนที่รับผิดชอบทำความสะอาดบริเวณนั้น ถูกกักบริเวณ เป็นแถว

เฮ้อ คิดเหมือนความเห็นที่สามครับ อยากสูบ ก็สูบ แต่อย่าไปทำใครเขาเดือดร้อน อย่าทำลายอากาศบริสุทธิ์แล้วกัน ... ( เหอ เหอ แล้วจะสูบได้ไงฟะเนี่ย)

Gelgloog said...

อีกประเด็นที่น่าพิจารณาคือในแง่ของข้อมูลของสินค้าและส่วนรั่วไหลที่จะเกิดขึ้นครับ

การที่ไม่วางขายบุหรี่โชว์ให้ถูกครรลอง อาจจะมีผลทำให้บรรดาบุหรี่ปลอมสามารถเข้ามาลักลอบทำตลาดได้ ดังนั้นแล้วถ้าจะยึดถือนโยบายนี้ต่อไปภาครัฐต้องคุมตรงนี้ให้อยู่ครับ ไม่งั้นจะสูญรายได้ไปมากโขเลยทีเดียว (ผมจำตัวเลขไม่ได้ ท่านไหนสนใจลองไปหาหนังสือเรื่องขบวนการค้าบุหรี่ปลอมในประเทศไทย ของ อ.สมภพ มานะรังสรรค์ มาอ่านดูนะครับ)

เท่าที่อ่านดูในหนังสือ ก็ปลอมกันเนียนนะครับ แต่ก็พอมีวิธีที่จะดูออกเหมือนกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าตั้งแต่ที่เปลี่ยนรูปลักษณ์ซองบุหรี่ใหม่ พวกนั้นจะปลอมกันอย่างไร แบบไหน

บุหรี่ปลอมอาจจะดูยากครับ แต่เชื่อว่าคนที่ชินล่ะก็ดูดปู้ดเดี่ยวรู้เรื่องแน่ เพราะผมก็เคยโดนกับตัวมาแล้ว อิอิ

crazycloud said...

I have right to smoke! ha ha จนตาย

Tanusz said...

เมื่อพี่โตมาคอมเม้นท์ แสดงว่าได้เวลา up blog

แล้ว 555 จัดให้ครับ