Thursday, August 18, 2005

บริการใหม่จากตำรวจไทย

ผมเชื่อว่าทุกๆคนคงเคยดูหนังประเภทโจรปล้นธนาคาร ในขณะที่โจรกำลังถือปืนขู่คนที่อยู่ในธนาคารนั้น (กรุณานึกภาพตามนะครับ ) นอกจากพระเอกแล้วจะมีคนๆนึงที่ทำตัวตุกติกมีพิรุธ ในสายตาของโจร นั่นคือผู้จัดการธนาคารซึ่งจะเป็นคนกดปุ่มๆนึง ซึ่งไอ้เจ้าปุ่มเนี้ย กดแล้วตำรวจจะแห่กันมาครับ ผมเรียกสั้นๆว่า “ปุ่มฉุกเฉิน” (ไม่ใช่พรก.ฉุกเฉินนะครับ)


ในประเทศไทยของเราก็มีบริษัทเอกชนรายนึงรับติดปุ่มฉุกเฉินให้กับพวกธนาคาร ร้านทอง หรือตามบ้านเรือนประชาชนทั้งหลาย หากมีโจรมาปล้น ก็กดปุ่มฉุกเฉินที่ว่า แล้วมันจะต่อสายตรงไปยังตำรวจท้องที่ให้เข้าช่วยดูแลความปลอดภัยให้ โดยบริษัทนั้นก็เก็บตังค์จากพวกธนาคาร ร้านทอง เป็นค่าต่อสายตรงถึงตำรวจเป็นรายเดือน แต่ผลปรากฏว่า ในปี 2544 มีสัญญาณเตือนภัยที่เกิดจากเจ้าปุ่มฉุกเฉินทั้งสิ้น 421 ครั้ง แต่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายจริงเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทำให้ตำรวจผู้มีหน้าที่รักษาความสงบต้องเดือนร้อน เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือเซ็งครับ อุตสาห์ออกมาทั้งที่แทนที่จะจับโจรได้ผลงาน แต่ดันกลับบ้านมือเปล่า


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)จึงได้ส่งเรื่องไปขอความเห็นจากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล(คณะกรรมการกฤษฎีกา)ว่าสตช.จะทำได้หรือไม่ หากจะทำสัญญากับบริษัทเจ้าของปุ่มเรียกเก็บเงินค่าบริการจากบริษัทดังกล่าว เพราะเป็นต้นเหตุทำให้ตำรวจต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และเสียอารมณ์ ในกรณีที่มีการกดปุ่มฉุกเฉิน แต่ไม่เจอโจรให้จับ ซึ่งก็น่าจะยุติธรรมดี เพราะตำรวจจะได้รางวัลปลอบใจกลับบ้าน เวลาไปตรวจตามสัญญาณเตือนภัยของปุ่มฉุกเฉินแต่ไม่เจอโจรให้จับ แต่เดี๋ยวก่อน สมมุติว่าผมเป็นเจ้าของบริษัทปุ่มฉุกเฉิน ,แน่นอนที่สุด, ผมจะไปเรียกเก็บค่าบริการนี้จากผู้ใช้บริการปุ่มที่ว่าทั้งหลาย ซึ่งก็คือประชาชนผู้เสียภาษีให้แก่รัฐ เท่ากับว่าประชาชนต้องเสียเงินให้ตำรวจสองเด้ง คือนอกจากจะเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นเงินเดือนให้กับตำรวจแล้ว ยังต้องมาเสียเงินจ้างตำรวจที่มีหน้าที่จับโจรอยู่แล้วให้มาจับโจรซ้ำอีก


แต่เดชะบุญครับ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไม่เล่นด้วยครับ โดยนำกฎหมายตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 บอกว่า “ตำรวจมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร” ดังนั้นการไปตรวจสอบที่เกิดเหตุที่ได้รับการเตือนจากปุ่มฉุกเฉินนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นจริงกตาม ก็ต้องถือว่าอยู่ในภารกิจและอำนาจหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว ตำรวจจึงไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บหรือทำสัญญาเรียกเก็บค่าบริการจากใครทั้งสิ้น


ทุกอย่างจบด้วยดีครับ นอกจากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลจะได้ช่วยประชาชนไว้แล้ว ผมว่ายัง “อาจจะ” ช่วยพี่น้องตำรวจไทยทุกคนด้วยครับ ช่วยยังไงน่ะหรือครับ อธิบายง่ายๆว่า หากมีคนเสนอเงินหรือให้เงินแก่ข้าราชการเพื่อให้ทำงานตามหน้าที่ของตน ข้าราชการที่รับเงินนั้นมีความผิดในข้อหา “เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน” เพราะทำงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ได้ทำงานเพราะมันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนั้นหากตำรวจคนใดรับเงินค่าบริการมาถือว่ามีความผิดครับ เพราะทำงานตามหน้าที่โดยเห็นแก่ทรัพย์สิน และพอเอาเงินกลับโรงพักเพื่อนตำรวจด้วยกันไม่เข้าจับกุม เพื่อนตำรวจนายนั้นก็มีความผิดฐาน “เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ด้วย เรียกว่าซวยทั้งโรงพักครับงานนี้?????

8 comments:

Tanusz said...

ประเด็นสุดท้ายผมไม่ชัวร์นะครับ ยังไงก็ขอความรู้จากผู้รู้จริงด้วย ขอบคุณครับ

Anonymous said...

ประชาชนก็มีภาระต้องเสียภาษี ตำรวจก็มีหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ของอย่างนี้เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

ratioscripta said...

ไม่แน่ใจนะครับ ว่าจะเป็นความผิดฐานเรียกรับสินบนหรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือเปล่า

เพราะการทำสัญญาดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสียหาย ไอ้ที่อ้างว่าเสียเวลา เสียทรัพยากร และเสียอารมณ์ทั้งหลายนั่นแหล่ะ

ไปแล้ว แต่ไม่เจอ เข้าใจว่าเสียหาย ก็ต้องการการชดใช้

คงไม่ใช่การจูงใจให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมั๊งครับ

แต่อย่างไรก็ตามผมเห็นด้วยกับความเห็นของกฤษฎีกา ที่ไม่ยอมให้สตช ทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวในรูปการณ์แบบนั้น

แนะนำดูครับ

สตช ลองฟ้องบริษัททางแพ่งดูดิครับ ว่าเค้าประมาทเลินเล่อ หรือไม่ในการให้บริการสัญญาณเตือนภัย หรือสัญญาณฉุกเฉินดังกล่าว

มีกระบวนการตรวจสอบการทำงานอย่างไร รัดกุมแค่ไหน ฯลฯ ทำนองนั้น

ดีกว่าการไปทำสัญญาอย่างนั้นนะครับ ลองดู

crazycloud said...

การที่ตำรวจต้องมาตามปุ่มเรียกร้องนั้นถ้าเอาเข้าจริงก็เทียบกับมีการแจ้งเหตุ แต่เหตุไม่เกิดขึ้นจริง "อย่างนี้เป็นแจ้งความเท็จหรือไม่"
หากเป็นแจ้งเท็จ การที่ตำรวจเข้าทำสัญญาก็เท่ากับเข้าไปรับรองการแจ้งเท็จซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างนี้เท่ากับจะเอาสัญญาไปรับรองสิ่งที่ผิดกฎหมาย สัญญาดังกล่าวก็มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โมฆะสูญเปล่าสิครับ
การที่ตำรวจจะเข้าทำสัญญา เกิดกฤษฎีกาอนุญาตให้เข้าทำสัญญาเก็บค่าบริการ ถ้าเป็นแพ่ง จะเรียกสัญญาไม่มีชื่อนี้ว่าอย่างไร ลองตั้งชื่อดู สนุกดีนะ แต่ในกรณีนี้การให้บริการของตำรวจเป็นบริการสาธารณะทางปกครอง หากเข้าทำสัญญาจะกลายเป็นสัญญาทางปกครองไหม(คิดเล่นๆ ขำๆ)แค่เนี้ย (ขำๆ) Aj.to

ratioscripta said...

น้องโตคร่าบ

อัญเชิญ ไปร่วมรำลึกบรรยากาศ Meet the Bloggers ที่บล็อกของพี่คร่าบ

Anonymous said...

ถ้าหากจะเกิดจากการขัดข้องของเครื่องมือล่ะคะ?

จากที่สังเกตุดู ปุ่มมันก็ไม่ได้อยู่ในที่ที่สามารถกดได้ง่ายนะคะ

เพราะเคยไปก้มดูเหมือนกันที่แบงก์ว่ามันอยู่ตรงไหน อุอุ

แต่ก็เห็นด้วยที่ไม่ให้เรื่องนี้ผ่านค่ะ

^___^

Anonymous said...

เรื่องทำนองนี้ อาจจะเป็นเรื่องใหม่ สำหรับประเทศไทย แต่เป็นเรื่องเก่าสำหรับสหรัฐอเมริกาครับ

สหรัฐฯ มีหลักคิดอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า ทรัพยากรเป็นสิ่งที่จำกัด การให้การบริการของรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดสรรอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามลำดับความเร่งด่วน

การแจ้งความในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ หากไม่ได้มีกรณีฉุกเฉินจริง ๆ แล้ว เช่นกรณี กดสัญญาณไฟไหม้ ซึ่งเชื่อมต่อกับหน่วยดับเพลิงของเมือง กดสัญญาณแต่ละครั้ง ต้องเสียเงิน ไม่แน่ใจว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ การเรียกรถพยาบาล หรือ เรียก 911 ให้มารับคนไข้ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายฯ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนทำตัวเป็นตัวป่วน หรือ ทำอะไรเล่นๆ ๆ

หากไม่ได้เกิดเหตุขึ้นจริง นี่ สองเด้ง ทั้งอาญาและค่าใช้จ่ายทางแพ่งฯ ครับ

Tanusz said...

ขอบคุณพี่พล สำหรับคอมเม้นท์ครับ