-1-
ความทั่วไป
รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือนิติบุคคลมหาชนกลุ่มนึง และนิติบุคคลเอกชนกลุ่มนึง
กลุ่มที่เป็นนิติบุคคลมหาชนจะเป็นพวกที่จัดตั้งโดยกฎหมายเช่น พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน หรือพระราชกฤษฎีกาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น กลุ่มนี้โดยหลักแล้วจะมีอำนาจรัฐและสิทธิพิเศษจากรัฐต่างๆอยู่ในมือไม่มากก็น้อย เช่นอำนาจในการปักเสาไฟฟ้าในที่ดินเอกชน อำนาจพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชน อำนาจในการตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตมาระเกะระกะสายไฟฟ้า หรือสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของราชพัสดุ
ส่วนกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลเอกชน พวกนี้จะจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป มีทุนจดทะเบียน มีหุ้น มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.การบินไทย พวกนี้โดยหลักแล้วจะไม่มีอำนาจมหาชนในกับบังคับเอากับเอกชนทั่วไปเหมือนกลุ่มแรก และการดำเนินงาน จะเป็นเหมือนบริษัทเอกชน
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจความหมายที่ใช้กันปัจจุบันคือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถืออยู่ให้แก่เอกชนจนรัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (ดังนั้นการขายหุ้นในรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจึงยังไม่ใช่การแปรรูปตามนัยทางกฎหมาย) แต่เพื่อความสะดวก ผมขอเรียกกระบวนการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่า “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ”
ปัญหาประการแรกสุดคือรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกไม่มีทุนจดทะเบียน ไม่มีหุ้น ดังนั้นในการขายจึงไม่สามารถขายได้ทันทีเหมือนรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการนำเอารัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมาเข้ากระบวนการแปลงสภาพให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเสียก่อนจึงจะสามารถขายหุ้นให้เอกชนได้ แต่ไปๆมาๆ กลับมีการใช้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจไปแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งกระบวนการ จึงทำผลเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
-2-
มูลเหตุของการแปรรูป
ตามกฎธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป ต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีผลตามมา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เช่นกัน เหตุของการแปรรูปผมสรุปออกมาได้ดังนี้
ประการแรก ความล้มเหลวในการดำเนินงานภายในของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดกับ กฎ ระเบียบทางราชการ ทั้งๆที่ความจริงแล้วองค์การของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎ ระเบียบอันหยุมหยิมของราชการ เพื่อให้มีความคล่องตัวเหมือนการดำเนินงานของเอกชน แต่เอาเข้าจริงๆกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐต่างกัน มากกว่า 2 แห่งขึ้นไป ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีกฎ ระเบียบเป็นของตนเอง เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ ฯลฯ จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องเปิดดูระเบียบก่อนถึงจะทำได้
ประการที่สอง ความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างธนาคารออมสิน เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มแรก จัดตั้งโดย พรบ.ธนาคารออมสิน อยากจะทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ทำไม่ได้ เนื่องจาก พรบ.ออมสินไม่ได้ให้มีอำนาจทำธุรกิจประกันชีวิต แต่ถ้าจะทำต้องไปแก้กฎหมาย โดยทำเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ต้องผ่านสภาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าจะได้ฤกษ์ แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สอง จะทำธุรกิจประกันชีวิต ทำได้เลยครับ ไม่ต้องแก้กฎหมายด้วย อย่างมากก็แก้หนังสือรับรองบริษัท โดยไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่เกิน 2 เดือนก็เสร็จ ดังที่เห็นธนาคารกรุงไทยจับมือกับกลุ่มบริษัทแอ็กซ่าจากฝรั่งเศส ทำธุรกิจประกันในนาม “กรุงไทยแอ็กซ่า”
ประการที่สาม การขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปอุ้มรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ปีๆนึงเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปค้ำประกันให้ ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีเงินจ่ายรัฐก็ต้องจ่ายแทน
ประการที่สี่ กระแสทุนนิยมเสรีที่ประเทศไทยไม่อาจต้านทานไว้ได้ ยังไงๆซักวันนึงก็ต้องเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจ และหากให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันนี้ ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติแล้วไซร้ คงไม่ต้องบอกว่านะครับว่าผลจะเป็นอย่างไร
ประการที่ห้า หลักการเสรีนิยมบอกว่า การแข่งขันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากแปรรูปออกไปเพื่อให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ จะทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเกิดการตื่นตัว ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตน ผลที่ตามมาคือประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นมูลเหตุหลักในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยังไม่รวมมูลเหตุรอง เช่นข้อผูกพันที่ไทยเราทำไว้กับองค์การโลกบาล เช่น IMF หรือแปรรูปเพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนทำอย่างอื่น หรือเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้น
ดังนั้นถ้าจะเหมารวมว่าการแปรรูปคือความชั่วร้าย คือการขายชาติไปซะทั้งหมดมันคงไม่ใช่ ที่มันจะชั่วร้าย ที่มันจะขายชาติอยู่ที่กระบวนการแปรรูปไม่ใช่แนวคิดการแปรรูป
-3-
กระบวนการแปรรูปที่ควรจะเป็น
ขั้นตอนแรกสุด การเลือกทางเดินของรัฐวิสาหกิจว่าเลือกว่ากิจการใดที่รัฐควรจะทำต่อไป ถ้าจะทำต่อจะทำในรูปแบบใด จะเป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกหรือกลุ่มที่สอง กิจการใดรัฐควรจะขายทิ้งไปเลย ไม่ควรอุ้มอีกต่อไปแล้ว
เช่น กิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา รัฐควรดำเนินการต่อไป แต่หากให้เป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่มแรกอาจมีปัญหาด้านการดำเนินงานจึงควรแปรสภาพให้เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สองเสียก่อนน่าจะเหมาะสม แต่รัฐจะต้องมีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงาน ควบคุมราคาได้ ซึ่งการเลือกเส้นทางเดินควรจะเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชนในการตัดสินใจ
ขั้นตอนที่สอง เมื่อเลือกกิจการที่จะแปรรูปได้แล้ว ก็ต้องเข้ากระบวนการแยกส่วนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องแยกเอาลักษณะพิเศษ 3 ประการออกมา
ลักษณะพิเศษประการแรก ดังที่ผมได้กล่าวไว้ตอนต้น ว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรก ที่เป็นนิติบุคคลมหาชนมีอำนาจรัฐที่จะบังคับเอากับเอกชนได้ หากแปรสภาพเป็นนิติบุคคลเอกชนแล้วจะต้องไม่มีอำนาจมหาชนหลงเหลืออยู่ในกิจการที่แปรสภาพออกมา เช่น การไฟฟ้า มีอำนาจปักเสา พาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินเอกชน หรืออำนาจในการเวนคืนที่ดินเป็นต้น
ลักษณะพิเศษประการที่สอง รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรกบางแห่ง มีลักษณะผูกขาดตามธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงการผูกขาดที่เกิดจากสภาพของรัฐวิสาหกิจ เช่นในกิจการไฟฟ้า เอกชนก็สามารถผลิตไฟฟ้าแข่งกับการไฟฟ้าได้ แต่การจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปส่งให้ถึงประชาชน ต้องอาศัยเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าเท่านั้น เพราะหากจะตั้งเสาไฟฟ้าขึ้นใหม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากยังงัยๆก็ไม่คุ้ม หรือแม้หากมีเงิน มากมายล้นฟ้าก็ตั้งเสาไฟฟ้าไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการตั้งเสาไฟฟ้า หรือพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของเอกชนอื่น จึงทำให้การไฟฟ้าเป็นผู้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าไปโดยปริยาย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นการแปรสภาพออกไปคงไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะไม่เกิดการแข่งขัน
ลักษณะพิเศษประการที่สาม ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุของรัฐ หรือใช้ที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินอยู่ หากจะแปรสภาพออกไปต้องให้แบ่งให้ชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นของรัฐวิสาหกิจ ส่วนไหนเป็นของแผ่นดิน ยกตัวอย่างการไฟฟ้าอีกนั่นแหละครับ การไฟฟ้าใช้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เขื่อนต้องเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น เพราะเขื่อนไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตประแสไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้นยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งอีก
ขั้นตอนที่สาม หากมีคำถามว่าเมื่อแยกลักษณะพิเศษของรัฐวิสาหกิจกิจแล้ว จะเอาไปไว้ที่ไหน จึงมีการเอาไปฝากไว้กับองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าองค์กรกำกับดูแลอิสระรายสาขา ซึ่งองค์กรพวกนี้นอกจากจะทำหน้าที่ถืออำนาจรัฐ ถือทรัพย์สินของรัฐ (เพื่อเอกชนรายใดต้องการใช้อำนาจดังกล่าวก็ต้องมาขออนุญาตกับองค์กรนี้) ยังทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อบริษัทที่ประกอบกิจการด้วยกัน และกับรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปด้วย และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย รวมไปถึงสามารถควบคุมราคาได้ด้วย
ขั้นตอนที่สี่ ตีราคารัฐวิสาหกิจ โดยดูมูลค่าทรัพย์สิน ผลประกอบการ กิจการที่ทำ แนวโน้มของผลประกอบการ และอื่นๆ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเค้าคิดกันยังงัย แต่เรื่องนี้มีผลกับส่วนได้เสียของผลประโยชน์ประเทศชาติ เช่น สมมุติตีราคาหุ้นการไฟฟ้า หุ้นละ 32 บาท แต่พอขายจริงราคากลับถีบไปถึง 100-200 บาท ซึ่งหากความแตกต่างของราคาดังกล่าว เป็นจำนวนหลักหน่วยคงพอยอมรับกันได้ แต่หากราคาต่างกันมากดังที่ยกตัวอย่างรัฐเสียประโยชน์เต็มนะครับ หากจะยังพอจำกันได้กับหุ้น ปตท. ที่ราคาเสนอขายกับราคาที่ซื้อขายจริงต่างกันลิบลับ ดังนั้นการตีราคาหุ้นจึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนนึง เคยมีผู้เสนอว่า ควรจ้างบริษัทเอกชน 5 บริษัท วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้บริษัทใดบริษัทเดียวกุมอำนาจตีราคา ซึ่งอาจเกิดการบิดเบือนราคาได้ โดยตัดราคาที่สูงสุด กับต่ำสุดออกไป แล้วพิจารณาราคาที่เหลืออยู่จะได้ราคาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด
ขั้นตอนที่ห้า กำหนดให้หุ้นที่รัฐถือเป็นหุ้นพิเศษที่เรียกว่าหุ้นทอง(Golden share) หุ้นทองนี้เป็นหุ้นที่ใครถือคนนั้นมีอำนาจบริหารในกิจการ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีอำนาจยับยั้งการบริหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประชาชน ที่เรียกว่าอำนาจ veto โดยหุ้นทองดังกล่าวรัฐไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้นแม้ว่าใครจะถือหุ้นมากเท่าไหร่ แต่ถ้ารัฐถือหุ้นทองซะอย่างก็ยังมีอำนาจในการบริหารกิจการได้ 555
หากทำได้ตามขั้นตอนที่ผมว่ามาเราจะได้รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลเอกชนเหมือนบริษัทเอกชน ที่รัฐสามารถควบคุมการบริหารงานได้ มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับเอกชนอื่น และจะมีองค์กรกำกับดูแลรายสาขาทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน รวมถึงควบคุมราคาให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
-4-
แสงสว่างอันริบหรี่จากศาลปกครอง
หากพิจารณาดูกระบวนการที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เทียบกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าการแปรรูปการไฟฟ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น โดยกระบวนการที่ผมยกมาจากผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการทั้งหลาย ที่รัฐนั่นแหละเป็นคนจ้างให้นักวิชาการไปทำวิจัย โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว แต่วิจัยเสร็จกลับเก็บขึ้นหิ้งซะงั้น ไม่รู้จะจ้างวิจัยทำไมให้เปลืองภาษีประชาชน
ซึ่งบทสรุปของผลงานวิจัยดังกล่าว เสนอให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วตรากฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่เนื่องจาก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้เพื่อแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมหาชน เป็นนิติบุคคลเอกชน เท่านั้น ไม่ครบกระบวนการทั้งหมดของการแปรรูปที่แท้จริง และมีจุดอ่อน ช่องว่างมากมายที่สามารถให้กลุ่มทุนทั้งชาติเดียวกัน และต่างชาติเข้ามาแบ่งเค้กรัฐวิสาหกิจกินกันอย่างเอร็ดอร่อย โดยที่เจ้าของเค้กอย่างเราๆท่านๆ ได้แต่ยืนมองกันตาปริบๆ
ดังนั้น การคัดค้านการแปรรูปที่ควรจะเป็นคือการให้ยกเลิก พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ โดยอาจจะเข้าชื่อ ห้าหมื่นรายชื่อ เสนอร่างกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าสภา หรือหากไม่ต้องการให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆเลย ก็เข้าชื่อเสนอ พรบ.ยกเลิกพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจก็ได้ การคัดค้านการแปรรูปโดยการยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ มีผลเพียงการชะลอการขายหุ้นการไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกการแปรรูปไปเลย
การยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า กับพรฎ.เงื่อนเวลายกเลิก พรบ.การไฟฟ้า แม้โอกาสในการชนะคดีจะมืดมน แต่ ด้วยความเคารพต่อศาลปกครอง ตามความเห็นส่วนตัวของผมก็ไม่ใช่ว่าจะปิดประตูแพ้เสียทีเดียว ยังมีแสงสว่างริบหรี่ๆให้พอมองเห็นทางบ้าง
พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ผมยังไม่ได้อ่านตัวเต็มของกฎหมายตัวนี้ แต่อนุมานว่าคงจะเหมือนกับตอนแปรรูปองค์การโทรศัพท์ เนื้อหาคงเป็นให้ บมจ.การไฟฟ้ามีอำนาจปักเสาพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินบุคคลอื่น หรือมีอำนาจตัดต้นไม้ของเอกชนที่โตระเกะระกะสายไฟฟ้า ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ มาตรา 26 ออกกฎหมายฉบับนี้มา ดูเผินอาจจะไม่เห็นประเด็นเพราะทำถูกต้องตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ดังกล่าว
แต่ ประมาณปลายปี 2546 ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานราชการ ใช้บริการโทรศัพท์จาก บมจ.ทศท. คอร์ปอร์เรชั่น(องค์การโทรศัพท์หลังแปรรูป) ก่อน หาก ทศท.ให้บริการไม่ได้ค่อยพิจารณาบริษัทอื่น คำสั่งศาลปกครองฉบับนี้มีนัยยะสำคัญว่า การที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่ บมจ.ทศท. ซึ่งนิติบุคคลเอกชน มากกว่า นิติบุคคลเอกชนอื่นเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักความเสมอภาค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากเทียบในกรณีของ พรฎ.กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของ บมจ.การไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นการให้สิทธิพิเศษกับนิติบุคคลเอกชนเช่นกัน ก็น่าจะขัดกับหลักความเสมอภาคดุจเดียวกัน
พรฎ.ยกเลิก พรบ.การไฟฟ้า กฎหมายตัวนี้จริงๆ แล้วขัดกับหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน ที่ให้กฎหมายลำดับต่ำกว่าคือพระราชกฤษฎีกา ไปยกเลิกกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าคือพระราชบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยตัดสินไว้แล้วว่า กรณีไม่ขัดกับลำดับศักดิ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ยกเลิก พรบ.จริงๆแล้วคือพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พรฎ.เป็นเพียงกำหนดเงื่อนเวลาเท่านั้น เช่นกันครับมองเผินๆ อาจจะดูว่ากรณีนี้ปิดประตูชนะอีกกรณีนึง เพราะประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินมาแล้ว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร
แต่เดี๋ยวก่อนครับท่านผู้อ่าน ผมมีข้อสังเกตดังนี้
ประการแรก แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยตัดสินในกรณีดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการตัดสินในประเด็นที่ว่า พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจขัดรัฐธรรมนูญครับ ไม่ใช่เรื่องพรฎ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
ประการที่สอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรก็แต่เรื่องหรือประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เท่านั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่บ่อเกิดแห่งกฎหมาย หรือไม่ใช่ตัวบทกฎหมายที่ศาลปกครองจะต้องหยิบยกขึ้นมาใช้ในการตัดสินคดี ดังนั้หากศาลปกครองจะยกหลักกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมายกเลิก พรฎ.ตัวนี้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
ประการที่สาม อันนี้ขาดเหตุผลทางกฎหมายอย่างสิ้นเชิงครับ แต่ศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินขัดแย้งกัน(ผมเรียกว่างัดข้อกัน) ในเรื่องอำนาจศาลในการควบคุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วศาลปกครองจะเห็นด้วยไปซะหมดนะครับ
ดังนั้นหากฝ่ายคัดค้านชนะคดี ผมว่าน่าจะเป็นการจุดประกายไฟการทบทวนการแปรรูปรัฐวิสหากิจ ให้เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เพราะการแปรรูปตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับนี้เสมอ รัฐจะต้องออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น