Thursday, October 13, 2005

เสรีภาพสื่อมวลชน

ตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของคุณทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็มีความพยายามจะทำให้ระบบการตรวจสอบตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญพิกลพิการใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ แต่แม้ว่าจะหนีการตรวจสอบอย่างไรก็หนีไม่พ้นการตรวจสอบของบรรดาสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ย เรื่องราวการทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายอำนาจรัฐมาตีแผ่ให้ประชาชนตาดำๆ ได้รู้ข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างกรณีการทุจริตเรือขุดเอลลิคอต กรณีค่าโง่ทางด่วน หรือแม้แต่กรณีคดีซุกหุ้นของคุณทักษิณ ถ้าสื่อมวลชนเป็นหมาเฝ้าบ้านแล้วไซร้ ผมยกให้เป็นหมารอตไวเลอร์ ตัวใหญ่ ประเภทกันแล้วไม่ปล่อย เหมาะสมกับการนำมาเฝ้าบ้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความไม่ชอบมาพากลอย่างประเทศไทย

แต่ผมไม่ได้เขียน blog ตอนนี้เพื่อยกย่องสื่อมวลชนแต่อย่างใด แต่ผมกำลังสงสัยใน “เสื้อเกราะกันกระสุน” ที่คุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่มีชื่อในการกฎหมายว่า “เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน” ทั้งๆที่กฎหมายให้เสื้อเกราะดังกล่าวไว้เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่โดยสุจริตของตนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สังคมโดยเฉพาะเจ้าของเสื้อเกราะกำลังตีความให้เสื้อเกราะตัวนี้ เป็นเหมือนป้ายอาญาสิทธิ์ที่ใครก็ล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าตนเองจะละเมิดจรรยาบรรณของตนเองหรือไม่

แน่นอนว่าใครๆก็ยอมรับว่าสื่อมวลชนต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าวสาร ต้องปราศจากการแทรกแซงการทำงานไม่ว่าจากหน่วยงานของรัฐ หรือจากกลุ่มทุนที่เข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างที่ไม่อาจทราบได้ ทุกๆครั้งที่สื่อมวลชนเป็นฝ่ายถูกกระทำ กระแสสังคมมักจะเอาใจช่วยฝ่ายสื่อมวลชนอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากกรณีการเข้าซื้อไอทีวีของกลุ่มชินคอร์ป กรณีการฟ้องนักข่าวของไทยโพสต์ กรณีการเข้าซื้อหุ้นมติชนและโพสต์ของคุณไพบูลย์ หรือแม้แต่กรณีล่าสุดอย่างการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากช่อง 9 และการที่คุณทักษิณฟ้องคุณสนธิ ทุกกรณีกระแสสังคมต่างชูธงเสรีภาพสื่อมวลชน ปลอดจากการแทรกแซง แม้ว่าอีกฝ่ายจะทำตามถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ก็ไม่วายโดนด่ากลับไปเลียแผลที่บ้านทุกรายไป

อย่างล่าสุดมีการจัดแถลงข่าวร่วมกันของสื่อมวลชนไทย กับองค์กรสื่อจากเมืองนอก ซึ่งได้พูดถึงกรณีการฟ้องร้องสื่อมวลชนของคุณทักษิณที่ฟ้องคุณสนธิ ว่าไม่ควรทำ เพราะคุณทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ ไม่ควรใช้สิทธิทางศาลปกป้องตัวเอง ผมอ่านแล้วจะสรุปว่าบุคคลสาธารณะใช้สิทธิทางศาลไม่ได้ (ในสายตาของสื่อมวลชน) ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริงซักเท่าใดนัก

เมื่อพูดถึงบุคคลสาธารณะ ในช่วงหลังๆ ผมมักจะนึกถึงโฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อนึง ที่ใช้การเล่นคำพ้องเสียง โดยเริ่มต้นที่ว่า “ศรี”ทนได้คะ แล้วก็ให้ “ศรี” ทำงานบ้านอย่างหนักหน่วง ใครเห็นก็ต้องสงสาร และมาบอกในตอนสุดท้ายว่า สีที่ทนได้ต่อทุกสภาวะอากาศน่ะคือสีทาบ้าน หาใช่ “ศรี” ที่เป็นคนไม่ ซึ่งดูไปดูไปสภาพของบุคคลสาธารณะก็คล้ายกับ “ศรี” ในโฆษณาเช่นกัน คือต้องอดทนต่อทุกสภาวะ ตอบโต้อะไรก็ไม่ได้ ต้องเป็น “ศรี” ของสังคม ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ด่าได้มาอัธยาศัย ซึ่งผมลองนึกทบทวนวิชากฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมา ไม่พบว่าคำว่า “บุคคลสาธารณะ” มีความหมายในทางกฎหมายแต่อย่างใด และไม่มีกฎหมายใดๆที่จะห้ามไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลได้

ไม่มีสิทธิและเสรีภาพใดที่สามารถใช้ได้โดยปราศจากขอบเขต หากใช้เกินขอบเขตย่อมต้องมีความรับผิดเป็นธรรมดา ในกรณีที่คุณทักษิณหรือกรณีของบริษัทชินคอร์ป ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ก็เพราะหากสื่อมวลชนทำตามจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนที่ดีแล้วนั้น กฎหมายก็รับรองและก็คุ้มครองให้อยู่แล้ว นอกซะจากว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง หรือกระทำการโดยไม่สุจริตใจ

ผมลงท้ายด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237-238/2514 ให้อ่านไว้เป็นอุทาหรณ์ สื่อมวลชนแอบแฝงบางคน

การที่จำเลยป่าวประกาศ ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ว่าโจทก์เป็นผู้ไม่นิยมการปกครองระบอบที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งเป็นที่น่ารังเกียจของประชาชนชาวไทย และการป่าวประกาศซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงว่าโจทก์เป็นคนโลภอำนาจทางการเมืองและมักใหญ่ใฝ่สูง ยอมทิ้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และและกลายเป็นผู้ที่ประชาชนชิงชังจนไม่อาจอยู่ประเทศไทยได้ ดังนี้ ย่อมเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ มีความผิดฐานละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลาย ตามมาตรา 423 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์