Monday, July 24, 2006

นักฟิสิกส์กับนักกฎหมาย

ห่างหายไปนานสำหรับบล็อกกับตัวผม สาเหตุใดคงไม่ต้องบอกกล่าวกันเพราะคงรู้กันอยู่แล้ว วันนี้ผมได้รับเมล์ฟอร์เวิร์ดจากเพื่อนรุ่นน้องคนนึง ซึ่งปกติผมขี้เกียจจะอ่านเสมอๆ (ชอบดูรูปมากกว่า หุหุ) ส่วนใหญ่จะลบทิ้ง (เพื่อนๆที่ส่งเมลให้ผมอย่าเพิ่งน้อยใจนะครับ บางเรื่องผมก็อ่านนะครับอย่างเรื่องนี้เป็นต้น) เนื้อความในเมล์ว่ายังงี้ครับ

อันนี้ถ้าจำไม่ผิดอ่านมาจากพันทิพ
ข้อสอบฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัย และคำตอบของนักศึกษาคนหนึ่ง โจทย์ข้อหนึ่งในข้อสอบวิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนมีดังนึ้

"จงอธิบายว่าท่านจะใช้บารอมิเตอร์วัดความสูงของตึกระฟ้าได้อย่างไร"

รู้จักกันนะครับ ว่าบาร์รอมิเตอร์นี่ก็คือเครื่องมือวัดความกดอากาศนั่นเอง (อธิบายเพิ่มเติมก็คงต้องบอกว่า อากาศนั้นมันมีน้ำหนักหรือมีแรงกดนั่นเอง และแรงกดของอากาศนั้นเมื่ออยู่ในระดับความสูงที่เปลี่ยนไป ความกดอากาศก็เปลี่ยนไปด้วย)

นักศึกษาคนหนึ่งเขียนคำตอบลงไปว่า "เอาเชือกยาวๆ ผูกกับบารอมิเตอร์แล้วหย่อนลงมาจากยอดตึก แล้วก็เอาความยาวเชือกบวกความสูงบารอมิเตอร์ก็จะได้ความสูงของตึก" ฟังดูเป็นอย่างไรครับคำตอบนี้ ผมฟังครั้งแรกผมยังอมยิ้มเลยครับ แต่อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบไม่นึกขันอย่างผมด้วย อาจารย์ตัดสินให้นักศึกษาคนนั้นสอบตก นักศึกษาผู้นั้นยืนยันต่ออาจารย์ที่ปรึกษาว่า คำตอบของเขาควรจะถูกต้องอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และคำตอบของเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยจึงตั้งกรรมการชุดหนึ่งมาตัดสินเรื่องนี้ และในที่สุดคณะกรรมการก็มีความเห็นตรงกันว่า คำตอบนั้นถูกต้องอย่างแน่นอน

แต่เป็นคำตอบที่ไม่แสดงถึงความรู้ความสามารถทางฟิสิกส์ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทางคณะกรรมการจึงให้เรียกนักศึกษาคนนั้นมา แล้วให้สอบข้อสอบข้อนั้นอีกครั้งหนึ่งต่อหน้า โดยให้เวลาเพียง 6 นาที เท่ากับเวลาในการสอบข้อสอบเดิม เพื่อหาคำตอบที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ทางด้านฟิสิกส์ หลังจากผ่านไป 3 นาที นักศึกษาคนนั้นก็ยังนั่งนิ่งอยู่ กรรมการจึงเตือนว่า เวลาผ่านไปครึ่งหนึ่งแล้วจะไม่ตอบหรืออย่างไร นักศึกษาหัวรั้นจึงตอบว่า เขามีคำตอบมากมายที่เกี่ยวกับฟิสิกส์ แต่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้คำตอบไหนดี และเมื่อได้รับคำเตือนอีกครั้ง นักศึกษาจึงเขียนคำตอบลงไปดังนี้

ให้เอาบารอมิเตอร์ขึ้นไปบนดาดฟ้าตึกและทิ้งลงมา จับเวลาจนถึงพื้น, ความสูงของตึกหาได้จากสูตร H=0.5g*t กำลัง 2

หรือถ้าแดดแรงพอ ให้วัดความสูงบารอมิเตอร์แล้วก็วางบารอมิเตอร์ให้ตั้งฉากพื้น แล้ววัดความยาวของเงาบารอมอเตอร์ จากนั้นก็วัดความยาวของเงาตึก แล้วคิดด้วยตรีโกณมิติก็จะได้ความสูงของตึกโดยไม่ต้องขึ้นไปบนตึกด้วยซ้ำ

หรือถ้าเกิดอยากใช้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์มากกว่านี้
ก็เอาเชือกเส้นสั้นๆ มาผูกกะบารอมิเตอร์แล้วแกว่งเหมือนลูกตุ้ม ตอนแรกก็แกว่งระดับพื้นดิน แล้วก็ไปแกว่งอีกทีบนดาดฟ้า ความสูงของตึกจะหาได้จาก ความแตกต่างของคาบการแกว่ง เนื่องจากความแตกต่างของแรงดึดดูดจากจุดศูนย์กลางของมวล คำนวณจาก T = 2 พาย กำลัง 2 รากที่ 2 ของ l/g

ถ้าตึกมีบันไดหนีไฟก็ง่ายๆ ก็เดินขึ้นไปเอาบารอมิเตอร์ทาบตัวตึกแล้วก็ทำเครื่องหมายไปเรื่อยๆ จนถึงยอดตึกนับไว้คูณด้วยความสูงของบารอมิเตอร์ก็ได้ความสูงตึก

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่น่าเบื่อและยึดถือตามแบบแผนจำเจซ้ำซาก คุณก็เอาบารอมิเตอร์วัดความดันอากาศที่พื้นและที่ยอดตึก คำนวณความแตกต่างของความดันก็จะได้ความสูง

ส่วนวิธีสุดท้ายง่ายและตรงไปตรงมาก็คือ ไปเคาะประตูห้องภารโรง แล้วบอกว่า อยากได้บารอมิเตอร์สวยๆ ใหม่เอี่ยมสักอันไหม ช่วยบอกความสูงของตึกให้ผมทีแล้วผมจะยกให้.

หากมองตามเหตุการณ์ในเมล์(ที่ผมสงสัยอยูว่ามันจริงป่าววะ) ที่ได้รับมานักศึกษาคนนี้ออกจะกวนอวัยวะ และขวางโลกอยู่ไม่น้อย (ในเมล์มาเฉลยตอนท้ายว่านักศึกษาคนนั้นคือ นีล โบร์ ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีค.ศ.1922*) ก็ข้อสอบเค้าถามในข้อสอบวิชาฟิสิกส์ ไม่ได้ถามในบริบททั่วไปๆ ผมเลยมาตั้งคำถามต่อในใจ สมมุติว่า ถ้าคำถามเดียวกันนี้ไปถามนักฟิสิกส์ แต่ไม่ได้ถามในข้อสอบวิชาฟิสิกส์ (ถามทั่วไป) ผม “เดา” เอาว่า หลายๆคนก็คงตอบแบบ “คนที่น่าเบื่อและยึดถือตามแบบแผนจำเจซ้ำซาก” ตามนิยามของนักศึกษาผู้นี้ ซึ่งจากเมล์อันนี้ผมเลยได้ข้อสรุปในใจขึ้นมาว่า “ปัญหาบางปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยฟิสิกส์”

ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องๆนึงที่เพื่อนผมที่เป็นทนายเคยบ่นให้ฟัง มันบอกว่าทนายมักชอบคิดแบบทนาย นักกฎหมายชอบคิดแบบนักกฎหมาย (โดยเฉพาะพวกที่จบมาใหม่ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ ซึ่งเพื่อนผมก็บอกว่าตัวเองก็จัดเป็นทนายเป็นประเภทนี้) คือว่าทนายเวลามีลูกความมาปรึกษาคดีก็ชอบที่จะคิดถึงแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดี “เป็นอย่างแรก” (เน้นว่าเป็นอย่างแรกที่สมองจะนึกออกเวลาทำงาน ซึ่งอันนี้เน้นโดยเพื่อนคนที่เล่าให้ฟัง) แล้วก็จะละเลยประเด็นอื่นๆ หรือความเป็นไปได้อื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องใช้กฎหมาย เช่นถ้าลูกความมาปรึกษาเรื่องทะเลาะกับสามีที่บ้าน ก็มักจะคิดถึงแต่เหตุฟ้องหย่าตามกฎหมาย หรือถ้าลูกความมาปรึกษาเรื่องไม่มีเงินจ่ายหนี้ ก็จะคิดถึงเหตุที่หลบเลี่ยงให้ลูกความไม่ต้องจ่ายเงิน หรือมีเรื่องทะเลาะกับข้างบ้าน หัวสมองก็เริ่มคิดเรื่องละเมิด เรื่องค่าเสียหายที่จะฟ้องร้อง

หลายคนคงสงสัยว่าแล้วมันแปลกตรงไหน ก็ทนายมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาตรงนี้นี่ ซึ่งผมก็ไม่เถียงว่าทนายมีหน้าที่ตรงนี้จริง แต่บางทีเราอาจจะลืมไปว่า ปัญหาทุกปัญหาไม่ต้องใช้กฎหมายแก้ก็ได้ ไม่ต้องถึงโรงถึงศาลก็ได้ หรือบางปัญหาไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเลยก็อย่าพยายามลากเอากฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง หากเอาตามกรณีที่ยกตัวอย่างมา เช่น ลูกความมาปรึกษาเรื่องทะเลาะกับสามีทีบ้าน ก็อาจจะให้คำปรึกษาที่ดีไปซะก่อน หรือ เรื่องลูกความไม่มีเงินจ่ายหนี้ ก็อาจเป็นคนกลางเจรจาประนอมหนี้ หรือเรื่องลูกความทะเลาะกับคนข้างบ้าน แทนที่จะตั้งเรื่องฟ้องท่าเดียว ก็อาจเป็นคนกลางในการเจรจากับคนข้างบ้านให้

ซึ่งเพื่อนผมลงความเห็นสรุปว่าเพราะ “เรียนกฎหมายมาความคิดเลยแคบ อยู่แต่ในตัวบทกฎหมาย” ตอนแรกที่ผมฟังเพื่อนผมเล่าก็ไม่จะคล้อยตามเท่าไหร่ นั่งถกกันอยู่ครึ่งคืน แต่ตอนนี้ ผมชักจะเริ่มเห็นด้วยกับมันแล้วล่ะครับ โดยดูจากปัญหาทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ดูวิธีการแก้ปัญหาของนักกฎหมายหลายๆ สำนักที่เสนอให้แก้กฎหมายฉบับนั้น กฎหมายฉบับนี้ แก้รัฐธรรมนูญบ้างล่ะ ต้องใช้มาตรา 7 บ้างล่ะ คงลืมนึกไปว่าปัญหาบางปัญหาไม่จำเป็นแก้ได้ด้วยกฎหมายนะกรับ

ปล.กรุณาอย่าถามต่อนะครับว่าแล้วควรทำยังไง เพราะผมก็ยังไม่รู้เหมือนกัน หุหุ

* อันนี้ผมสงสัยเองว่า ปี 1922 มีรางวัลโนเบลแล้วหรือ ใครทราบรบกวนช่วยบอกหน่อยครับ ขอบคุณครับ