Wednesday, April 26, 2006

Stand up if you love Shearer




Stand up if you love Shearer เสียงตะโกนพร้อมกับการลุกขึ้นยืนปรบมือ (Standing ovation) ของคนกว่าครึ่งแสน เพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดกัปตันทีม “อลัน เชียร์เรอร์” ผู้กำลังจะเป็นอดีตตำนานอันยิ่งใหญ่ของสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล ดังกระหึ่มในสนามเซ็นต์ เจมส์ ปาร์ค เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์อะไรบางอย่างของยอดดาวยิงผู้นี้

ย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีก่อน ด.ช.เชียร์เรอร์ ก็เป็นเหมือนเด็กชายชาวอังกฤษทั่วไป ที่ติดสอยห้อยตามครอบครัวโไปเชียร์ทีมฟุตบอลประจำเมือง หรือทีมที่ครอบครัวชื่นชอบ แน่นอนครับ ด.ช.เชียร์เรอร์ เป็นชาวเมืองนิวคาสเซิล จึงเป็นแฟนบอลของทีมประจำเมืองไปโดยปริยาย เมื่อได้ดูแล้วก็เกิดความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ใส่เสื้อลายบาร์โค้ด(ขาว-ดำ) ลงเตะในสนามเซ็นต์ เจมส์ ปาร์ค มีแฟนบอลส่งเสียงเชียร์ เหมือนกับเควิน คีแกน ฮีโร่ของเค้า


เมื่อความฝันแล้ว ด.ช.เชียร์เรอร์ ก็ไม่รอช้ามุ่งมั่นซุ่มซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะให้ได้เป็นนักเตะอาชีพ แต่แล้วความฝันของเชียร์เรอร์ก็ถูกทดสอบเป็นครั้งแรก เมื่อเชียร์เรอร์ถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นนักเตะฝึกหัดของสโมสรที่มุ่งหวัง ไม่รู้ว่าโชคชะตากลั่นแกล้ง หรือเป็นความผิดพลาดที่น่า “เขกกะโหลก” ของเหล่าสตาฟโค้ชผู้คัดเลือก เชียร์เรอร์มีทางให้เลือกไม่มากนัก แต่ด้วยความมุ่งมั่น หนุ่มน้อยอายุเพียง 15 ปี อย่างเชียร์เรอร์เก็บข้าวเก็บของ เดินทางออกจากบ้านเกิดอันเป็นที่รักยิ่งลงใต้เพื่อไปเป็นนักเตะฝึกหัดของสโมสรเซาท์แธมป์ตันที่อยู่ห่างจากนิวคาสเซิลประมาณ 300 ไมล์ (เทียบกับบ้านเราก็ประมาณจากหนองคายลงสงขลา)

ที่เซาท์แธมป์ตัน เชียร์เรอร์ได้เริ่มตำนานบทที่หนึ่ง ตั้งแต่อายุ 17 ปี 8 เดือน โดยการยิงแฮตทริก(1 นัด 3 ประตู)ใส่ทีมอาร์เซนอล ด้วยอายุที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ทำลายสถิตของจิมมี่ กรีฟฟ์ ที่อยู่ยงคงกระพันมานานถึง 30 ปี

เชียร์เรอร์อยู่ที่เซาท์แธมป์ตันเป็นเวลา 6 ปี ก็ต้องมีอันชีพจรลงเท้าอีกครั้ง เมื่อได้รับข้อเสนอขอซื้อตัวจากทีม แบล็กเบิร์น โรเวอร์ ที่มีอดีตตำนาน หมายเลข 7 แห่งทีมลิเวอร์พูล เคนนี่ ดัลกลิช เป็นผู้จัดการทีม และทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มี เซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน เป็นกุนซือ

เชียร์เรอร์ปฏิเสธท่านเซอร์อเล็กซ์ เป็นครั้งแรก และย้ายไปอยู่กับแบล็กเบิร์น ด้วยค่าตัว 3.6 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าแพงมากในสมัยนั้น

การตัดสินใจของเชียร์เรอร์น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยเพราะแมนยูในขณะนั้นเพิ่งได้รองแชมป์ลีก ศักยภาพของทีมค่อนข้างจะลงตัว ซึ่งหากเชียร์เรอร์ย้ายไป จะได้จับคู่กับเอริก คันโตน่า ยอดนักเตะชาวฝรั่งเศสที่ท่านเซอร์เพิ่งซื้อมา หากเล่นคู่กันจะเป็นคู่หูในฝันคู่นึงเลยทีเดียว เทียบกับแบล็กเบิร์นที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาอยูบนลีกสูงสุดได้ไม่นาน มีเพียงเม็ดเงินจากประธานสโมสรผู้ล่วงลับ แจ็ก วอล์กเกอร์ ที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแมนยู แต่เชียร์เรอร์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเค้าตัดสินใจไม่ผิด 3 ฤดูกาลต่อมา เชียร์เรอร์ยิงได้ 31 ประตู จากการลงสนาม 40 นัด นำทีมแบล็กเบิร์นเฉือนชนะแมนยูแค่เส้นยาแดง คว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพไปครอง





แต่ใครจะรู้ว่านี่คือแชมป์แรกและแชมป์เดียวของเชียร์เรอร์ในชีวิตการค้าแข้ง




ปี 1996 ความฝันของเชียร์เรอร์ก็ถูกทดสอบอีกครั้ง เมื่อได้รับข้อเสนอขอซื้อตัวจากเซอร์อเล็กซ์ แห่งแมนยูเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งทีมแมนยูพึ่งคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพมา 2 สมัยซ้อน หากครั้งนี้เชียร์เรอร์ตัดสินใจไปอยู่กับทีมแมนยู การจะได้เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทองลำบากแค่ยกขา เพราะขณะนั้นแมนยูเข้าขั้นเป็นยอดทีมแห่งเกาะอังกฤษ และกำลังใส่เกียร์เดินหน้าเพื่อมุ่งสู่แชมป์ยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน ทีมนิวคาสเซิล ที่เป็นทีมบ้านเกิดและเป็นทีมที่เชียร์เรอร์รักก็ได้ยื่นข้อเสนอ ขอซื้อตัวมาด้วยราคาที่แพงที่สุดในโลกในสมัยนั้น 15 ล้านปอนด์ การตัดสินใจครั้งนี้หากเป็นคนอื่นคงไม่ง่ายนัก ที่จะเลือกทำตามความฝันแต่อนาคตยังคลุมเคลือ กับเลือกอนาคตที่สดใสโดยละทิ้งความฝัน

แต่ใครคนนั้นเป็นอลัน เชียร์เรอร์ ผู้วิ่งไล่ตามความฝัน เค้าเลือกที่จะทำตามความฝัน โดยปฏิเสธท่านเซอร์อเล็กซ์เป็นครั้งที่สอง เซ็นสัญญาร่วมงานกับเควิน คีแกน ฮีโร่สมัยเด็กที่เป็นผู้จัดการทีมอยู่ ย้ายมาอยู่กับทีมรัก ใส่เสื้อลายทางขาว-ดำ ลงเตะในสนามเซ็นต์เจมส์ ปาร์ค ฟังเสียงแฟนบอลตะโกนเรียกชื่อเพื่อเชียร์เค้า เป็นฝันที่เป็นจริง

10 ปีต่อมา กับทีมนิวคาสเซิล เชียร์เรอร์ไม่มีแชมป์ประดับเกียรติประวัติเพิ่มเติมใดๆแม้แต่ใบเดียว ไม่ว่าจะใบเล็กใบใหญ่ ทำได้ดีที่สุดเพียงรองแชมป์ นำมาซึ่งการตั้งคำถามว่าเชียร์เรอร์คิดผิดหรือไม่ เพราะหากตอนนั้นเชียร์เรอร์เลือกแมนยู จะได้แชมป์ทุกแชมป์ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ชิพ เอฟเอคัพ ลีกคัพ หรือแม้แต่ถ้วยใบใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างยูโรเปี้ยนคัพ เชียร์เรอร์มีเพียงสถิติและตำแหน่งส่วนตัวเป็นของปลอบใจ อาทิ เป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลลของพรีเมียร์ชิพ, ได้รับการโหวตให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของอังกฤษ 2 สมัย, ทำลายสถิติการยิงประตูสูงสุดของทีมนิวคาสเซิล, เป็นดาวซัลโวในฟุตบอลยูโร 96 ในนามทีมชาติอังกฤษ, เป็นกัปตันทีมชาติอังกฤษและเป็นกัปตันสโมสรนิวคาสเซิล ฯลฯ

หากมองด้วยสายตาของบุคคลภายนอก 10 ปีนี้ เป็น 10 ปีที่ว่างเปล่าของเชียร์เรอร์อย่างแท้จริง แต่ชาวจอร์ดี้(ชาวเมืองนิวคาสเซิล)ไม่คิดอย่างนั้น เชียร์เรอร์ได้ให้อะไรกับทีมนิวคาสเซิลมากกว่าตำแหน่งแชมป์ โดยเฉพาะการเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กๆในเมือง ความเป็นสุภาพบุรุษ เชียร์เรอร์ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องความประพฤติทั้งในและนอกสนาม ความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำหน้าที่นักเตะและกัปตันทีม การอุทิศตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ สิ่งเหล่านี้เชียร์เรอร์ไม่เคยขาด

ถ้ามีคนถามผมว่าเชียร์เรอร์ประสบความสำเร็จในการค้าแข้งกับนิวคาสเซิลหรือไม่ หากคำว่า “ประสบความสำเร็จ” นั้นประเมินจากจำนวนแชมป์ที่เชียร์เรอร์ทำได้กับทีม ผมจะตอบว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

แต่หากคำว่า “ประสบความสำเร็จ” นั้นประเมินจากการได้รับการยกย่องจากแฟนบอล และบุคคลทั่วไป (โทนี แบลร์ นายกฯอังกฤษ ก็ยกย่องด้วยนะครับ) ในฐานะนักฟุตบอลอาชีพทั้งในและนอกสนาม ประเมินจากคนที่มีความฝัน และทำได้อย่างที่ฝันไว้ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ที่กล้าที่จะขว้างทิ้ง อนาคตอันสดใสเพื่อเดินตามความฝันของตัวเอง ผมว่าเชียร์เรอร์นี่แหละครับ แชมป์ตัวจริงเสียงจริง

Stand up if you love shearer

Saturday, April 08, 2006

ดื้อแพ่ง

หลายคนคงจำหนังเรื่องหนึ่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนที่สร้างจากนิทาน (หรือนิยาย)ของอังกฤษ ที่พระเอกเป็นโจรที่ปล้นคนรวยช่วยคนจน อย่างโรบินฮู้ดได้ ในหนังเรื่องนี่สร้างให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโรบินฮู้ดมิได้ปรารถนาจะเป็นโจร ตัวโรบิ้นฮู้ดเองก็ไม่ได้เป็นโจรโดยกำเนิด และก็ไม่ได้มีสันดานโจรแทรกซึมอยู่ในสายเลือด แต่ที่มาเป็นโจรเพราะถูกอำนาจรัฐรังแก บังคับ ข่มเหงอย่างไม่มีทางสู้ ดังนั้นเมื่อเป็นคนดีในสังคมก็ไม่ได้ ก็ไม่เป็นโจรซะให้รู้แล้วรู้รอดไป

หากใช้แนวความคิดที่ว่าเมื่อรัฐไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ตนเองได้แล้ว คนๆนั้นจะปฏิบัติตัวอย่างไร จะให้ทนทนไปจากการกระทำของอำนาจรัฐ โดยคิดซะว่าเป็นกรรมเก่าที่เคยทำมาในชาติที่แล้ว หรือว่าช่างมันถือว่าอโหสิ แล้วก็แล้วกันไปหรือ แน่นอนครับบางคนทำได้ แต่บางคนทำไม่ได้ ไอ้คนที่ทำไม่ได้ หากไม่ได้ตัดสินใจเป็นอาชญากรอาชีพ ก็คงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐที่กระทำต่อตนเอง หากโรบินฮู้ดเกิดช้ากว่านี้ซัก 200-300 ปี คงไม่เลือกที่จะไปเป็นโจรอยู่ในป่าเชอร์วู๊ดเป็นแน่ เพราะมีทฤษฎีใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน”

ความจริงแล้วผมออกจะงงงงอยู่กับคำว่า “อารยะขัดขืน” อยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะโดยถ้อยคำดูสวยหรู แต่ไม่สื่อให้เห็นถึงความนัยของมัน ซ้ำร้ายจะถูกมองอย่างมีอคติว่า การขัดขืนอย่างมีอารยะหมายถึง การขัดขืนที่ฝรั่งผู้ดีตีนแดงเค้าใช้กัน แล้วไอ้คนอย่างผมที่ยังไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไหร่ว่าตัวเองมีอารยะกะเค้าหรือเปล่าจะขัดขืนอย่างนั้นบ้างได้ไหม

แต่หากเรียกชื่อเดิมของมันก่อนที่จะถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “ดื้อแพ่ง” หลายคนคงถึงบางอ้อได้ในทันที ดื้นแพ่งเป็นคำจากไหนผมไม่รู้ แต่ผมเดาว่าคงแปลมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “civil (แพ่ง) disobedience (ดื้อ)” รู้แต่ว่าเป็นคำที่ได้ยินตั้งแต่เด็กๆ เป็นคำที่บรรดา ครูบาอาจารย์ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองใช้ตำหนิติเตียนลูกศิษย์ลูกหา หรือลูกตัวเองในกรณีที่ เด็กๆไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ท่านเหล่านั้นให้ไว้ ซึ่งผมขอใช้คำว่า “ดื้อแพ่ง” ในบล็อกตอนนี้นะครับเพราะไม่ค่อยชินกะไอ้การขัดขืนอย่างมีอารยะ

ตามตำราฝรั่งเค้าบอกว่า ดื้อแพ่ง คือการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างสันติวิธี เป็นการกระทำในเชิงศีลธรรม เป็นการประท้วงหรือคัดค้านคำสั่ง กฎหมายของผู้ปกครองที่อยุติธรรม หรือเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง

การดื้อแพ่งจึงเป็นการที่การ “จงใจ” กระทำที่ผิดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน แต่จงใจเพื่อประท้วงการกระทำของอำนาจรัฐ หรือประท้วงกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม โดยอ้างอำนาจ หรือมโนธรรมที่อยู่เหนือกว่ากฎหมายมาเป็นข้อโต้แย้ง หากอธิบายตามหลักนิติปรัญชา สำนักกฎหมายธรรมชาติ ก็จะได้ว่ากฎหมายย่อมมีลำดับศักดิ์ต่างกัน กฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่าย่อมไม่อาจขัดแย้งกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า กฎหมายบ้านเมืองแม้ได้ออกมาโดยอาศัยอำนาจของผู้ปกครองสูงสุด ก็ไม่อาจขัดกับกฎธรรมชาติที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุดได้

แนวความคิดเรื่องดื้อแพ่งนี้ ออกจะขัดกับมโนสำนึกที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนทั่วไปที่ว่าบุคคลมีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย ดูเผินๆอาจเหมือนกับอาชญากร หรือพวกโจรผู้ร้ายที่กระทำผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ผู้ดื้อแพ่งหาได้คิดเช่นเดียวกับโจรไม่ ผู้ดื้อแพ่งยังคงเคารพกระบวนการยุติธรรมทางศาล การจงใจทำผิดกฎหมายมิได้เกิดขึ้นเพื่อเจตนาทำให้เสื่อมเสียหายแก่สิทธิของผู้บริสุทธิ์ หากแต่ต้องการนำประเด็นความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐขึ้นมาให้สาธารณะขบคิดถึงผลเสียหายที่มากกว่าการเสียหายแบบธรรมดา ดังนั้นผู้ดื้อแพ่งทุกคนจะรอคอยการพิจารณาของศาลอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อที่จะได้นำเสนอประเด็นอธิบายให้สาธารณะเข้าใจ หากมีคำตัดสินอย่างไรก็ต้องยอมรับโทษตามการกระทำความผิดของตน

การดื้อแพ่งนั้นมีส่วนที่ใกล้เคียงกับการก่อการร้ายตรงที่ปฏิเสธอำนาจรัฐที่ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรม หากแต่การดื้อแพ่งนั้นเลือกใช้สันติวิธี แทนการวางระเบิด หรือลอบยิงประชานผู้บริสุทธิ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการดื้อแพ่งมักจะทำร้ายเพียงแค่สิทธิของตัวเองเท่านั้น หรืออย่างมากแค่จัดการชุมนุมรบกวนสิทธิในการสัญจรไปมาของบุคคลอื่น

บล็อกตอนนี้มิได้เกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าการกระทำของอาจารย์จุฬาฯที่ฉีกบัตรเลือกตั้งนั้นถูกหรือผิด เพียงแต่อยากเห็นกระบวนการของการใช้สิทธิในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่พบเห็นในระบบกฎหมายประเทศไทย หากศาลตัดสินว่าการฉีกบัตรเลือกตั้งดัวกล่าวเป็นความผิด ก็คงต้องยอมรับ แต่ผมอยากเห็นกระบวนการใช้สิทธิทางศาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการดื้อแพ่ง อันเป็นสิทธิอย่างนึงในระบบประชาธิปไตยทางตรง อย่างน้อยที่สุดผมอยากเห็นคำพิพากษาที่พิจารณาในส่วนของการใช้สิทธิ เช่น สิทธิที่เป็นฐานของการกระทำดื้อแพ่งมีหรือไม่ตามระบบกฎหมายไทย วิธีการใช้สิทธิที่ถูกต้องที่ศาลยอมรับได้ หรือขอบเขตของการใช้สิทธิ เป็นต้น

การชุมนุมของบรรดาพันธมิตรได้เปิดมิติใหม่ทางการเมืองอันเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งผมเห็นว่าหากจะเรียกร้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนั้น นอกจากการติดอาวุธทางปัญญาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการติดอาวุธทางกฎหมายกรับ